แม้ “ข้าวหลาม” จะเป็นเมนูขนมไทยโบราณที่มีมานานแล้ว แต่ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าหากเคยมีโอกาสได้ลิ้มลองจะต้องติดใจในรสชาติหวาน มัน เค็ม ของข้าวเหนียวนุ่ม ๆ หอมกลิ่นกะทิอ่อน ๆ จนหลายคนอยากลองทำทานเองที่บ้าน และแน่นอนว่าเราก็พร้อมที่จะนำเสนอสูตรการทำเมนูขนมหวานแสนละมุนเมนูนี้อย่างแน่นอน ซึ่งต้องบอกเลยว่า ขั้นตอนก็ไม่ได้ซับซ้อนและวุ่นวายอย่างที่คิด แต่ก่อนที่จะไปจนสูตรเอาไว้ทำกัน ตามเราไปทำความรู้จักกับเมนูนี้ในแง่มุมอื่นกันเสียก่อน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับข้าวหลามที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ข้าวหลาม เป็นหนึ่งในเมนูขนมของไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะ “ของดีหนองมน” ของฝากยอดนิยมจากชลบุรี ด้วยรสชาติที่หวานมันเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของกะทิที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ ชวนให้หลายคนติดใจจนอยากทานทุกวัน ซึ่งความอร่อยนี้มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ และหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ต้นกำเนิดของข้าวหลามนั้นค่อนข้างซับซ้อน แต่มีการสันนิษฐานว่ามาจากทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย จากวัฒนธรรมการกินข้าวเหนียวเป็นหลัก ประกอบกับการหุงข้าวในกระบอกไม้ไผ่ที่มีกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แล้วทำการดัดแปลงมาเป็นเมนูของหวาน ในอดีตนิยมกินกันในช่วงหน้าหนาวเท่านั้น เพราะนอกจากประโยชน์ของข้าวหลามจะให้โภชนาการที่ดีต่อร่างกายแล้ว ยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายได้อีกด้วย
เตรียมจดสูตรการทำข้าวหลาม ขนมแสนอร่อย ทำง่าย
ใครที่คิดว่า “ข้าวหลาม” เป็นเมนูอาหารไทยที่ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ หรือมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ขอบอกเลยว่าไม่ยากที่คิด มีวัตถุดิบที่ไม่ได้มากมายอะไรและยังใช้เวลาในการทำไม่นานอีกด้วย ซึ่งวัตถุดิบและขั้นตอนในการทำจะประกอบไปด้วย
ส่วนผสม
- ข้าวเหนียวขาว 2 ถ้วยตวง
- กะทิสด 1 ถ้วยตวง
- น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
- ใบเตย 15 ใบ
- กาบมะพร้าว 3-4 กาบ
- กระบอกไม้ไผ่ 6-7 กระบอก
- ถั่วดำต้มสุก ½ ถ้วยตวง
วิธีการทำ
- เตรียมไม้ไผ่นำมาตัดเป็นท่อน ๆ ขนาดเท่ากัน จากนั้นล้างให้สะอาด ตากให้แห้งและเตรียมไว้
- เตรียมส่วนผสมข้าวหลาม เริ่มด้วยการนำข้าวเหนียวมาล้างด้วยน้ำสะอาดประมาณ 2 รอบ จากนั้นแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วให้นำข้าวเหนียวที่ได้มาพักไว้ในกระชอน รอให้สะเด็ดน้ำ
- นำถั่วดำมาล้างทำความสะอาดแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นนำไปต้มให้สุกประมาณ 10 นาที เสร็จแล้วตักขึ้นมาพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
- นำข้าวเหนียวและถั่วดำที่เตรียมไว้มาผสมรวมกันในชามผสม เทกะทิใส่ตามลงไป นำขึ้นตั้งบนเตาแล้วปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและเกลือป่น คนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันจนกว่าน้ำตาลจะละลาย
- ขั้นตอนนี้ให้นำส่วนผสมข้าวเหนียวที่ได้มา ใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่ที่ล้างเตรียมไว้ ใส่ทีละหนึ่งกำมือสลับกับหยอดน้ำกะทิ โดยไม่ลืมที่จะกระแทกกระบอกไม้ไผ่เพื่อให้ข้าวเหนียวและน้ำกะทิผสมเข้ากันดี ทำเช่นนี้วนไปจนกว่าข้าวเหนียวจะเต็มกระบอก ปิดท้ายด้วยการปิดกระบอกไม้ไผ่ด้วยใบเตย
- หลังจากใส่ส่วนผสมข้าวเหนียวลงในกระบอกไม้ไผ่จนหมด ให้นำกระบอกไม้ไผ่มาเผา ใช้ไฟปานกลาง และใช้เวลาประมาณ 50 นาที ระหว่างนั้นให้กลับด้านกระบอกไม้ไผ่ไปเรื่อย ๆ รอให้ข้าวเหนียวสุกแล้วยกออกจากเตา
- พักไว้ให้เย็น แล้วจึงนำกระบอกข้าวหลามมาเหลาให้บางด้วยมีด เพื่อให้สะดวกต่อการแกะ จากนั้นสามารถแกะออกมาจัดใส่จานพร้อมเสิร์ฟได้เลย
แชร์เคล็ดลับการทำเมนูข้าวหลาม สูตรต้นตำรับ ทำอย่างไรให้อร่อย
หากต้องการข้าวหลามที่มีรสชาติแบบต้นตำรับ มีครบทั้งหวาน มัน เค็ม ให้สัมผัสข้าวเหนียวที่นุ่ม มาพร้อมกับกลิ่นหอมของกะทิ ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด โดยวิธีทำข้าวหลามให้อร่อยควรเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ เน้นใช้วัตถุดิบและส่วนผสมที่มีความสดใหม่ สะอาด และไม่ผ่านการแช่ค้างคืน ทั้งยังต้องเลือกกระบอกไม้ไผ่ที่สะอาดและมีขนาดกำลังดี หลังจากนำมาเผาก็จะทำให้ขนมมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของไม้ไผ่ด้วย
ส่วนข้าวเหนียวต้องนำมาแช่น้ำ โดยกะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ถั่วดำก็จำเป็นจะต้องผ่านการแช่น้ำมาแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง เพียงเท่านี้จะทำให้ได้ข้าวเหนียวและถั่วดำที่นุ่มกำลังดี และที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ กะทิ อีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญของเมนูข้าวหลาม แนะนำให้ใช้กะทิสดแทนกะทิกล่อง จะทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นมากกว่า และไม่ทำให้ข้าวเหนียวติดไม้ไผ่ แถมยังช่วยให้แกะง่ายอีกด้วย
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace