การให้อาหารทางสายยาง เป็นหนึ่งในวิธีการให้อาหารสำหรับผู้ป่วย ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นหลังการผ่าตัดที่ยังมีร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ บางรายก็มีปัญหาในการทานอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นการเคี้ยวอาหารที่ทำได้ยาก หรือเกิดภาวการณ์กลืนอาหารลำบาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการทำงานของร่างกาย เนื่องจากผู้ป่วยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ในทางการแพทย์คิดค้นการให้อาหารทางสายยาง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่ถูกต้อง ครบถ้วน และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะให้อาหารได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในบทความนี้ FoodSpace จะกล่าวถึงรายละเอียดเชิงลึกของการให้อาหารสำหรับผู้ป่วยผ่านทางสายยาง เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป
ทำความรู้จักการให้อาหารทางสายยาง วิธีให้อาหารสำหรับผู้ป่วย ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้
การให้อาหารทางสายยาง เป็นวิธีการให้อาหารสำหรับผู้ป่วย ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ทางปาก ผ่านทางท่อของสายยางที่ต่อเชื่อมโดยตรงกับกระเพาะอาหาร ซึ่งจะมาในรูปแบบอาหารเหลวและอาหารอ่อน ที่สามารถย่อยได้ง่ายกว่าอาหารทั่วไป ช่วยให้สารอาหารสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจจะให้ผ่านทางจมูก ทางปาก หรือทางหน้าท้องก็ได้ด้วยเช่นกัน
อุปกรณ์การให้อาหารทางสายยาง กับวิธีการที่ถูกต้องปลอดภัย ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ที่บ้าน
การให้อาหารทางสายยาง ผู้ดูแลหรือญาติจะต้องเตรียมอุปกรณ์อย่างกระบอกหรือถุงให้อาหาร สายยางสำหรับให้อาหาร อาหารเหลวหรืออาหารอ่อน สำลีและแอลกอฮอล์ ที่ต้องใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาด เมื่อเริ่มต้นให้อาหารสำหรับผู้ป่วยผ่านทางสายยางให้ถูกต้อง จะต้องทำการตรวจสอบก่อนเลยว่า สายยางที่ต่อกับกระเพาะอาหารยังอยู่ในกระเพาะจริง ๆ หรือไม่ โดยการใช้กระบอกฉีดยาทดลองฉีดเข้าไป แล้วเช็คปริมาณอาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะของผู้ป่วย วิธีการนี้จะเป็นการตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่พร้อมจะรับอาหารหรือไม่ด้วย หากกระบอกฉีดยามีสารย้อนกลับขึ้นมา แล้วอาหารตกค้างมีมากกว่า 100 ซีซี ให้เว้นระยะแล้วค่อยตรวจสอบอีกรอบจนกว่ากระเพาะของผู้ป่วยจะพร้อม เมื่อพร้อมแล้วให้ทำการต่อถุงอาหารเหลว หรือค่อย ๆ ฉีดจากกระบอกสูบอาหารเข้าไปในสายยาง แล้วห้อยไว้ในระดับที่สูงกว่าตัวผู้ป่วย เพื่อรอให้อาหารไหลลงเข้าสู่กระเพาะ และแน่นอนว่าเมื่ออาหารหมดแล้ว ให้ตามด้วยการให้น้ำผ่านทางช่องทางเดิม เป็นอันเสร็จสิ้นการให้อาหารหนึ่งมื้อ