แมงดาทะเล สัตว์ที่ชาวไทยชื่นชอบและมักหยิบมาเป็นวัตถุดิบเมนูสุดแซ่บ ยิ่งเป็นในส่วนของ “ไข่แมงดา” ยิ่งฮอตฮิตในร้านอาหารทะเล ซึ่งบางคนที่ถนัดเข้าครัวก็ถึงขั้นซื้อไปปรุงเอง จนบางครั้งเข้าใจผิดหยิบเอาไข่แมงดาถ้วยไปใช้ประกอบอาหาร เนื่องจากแมงดาในน่านน้ำทะเลของไทยนั้นไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว มีทั้งชนิดที่ทานได้ และชนิดที่มีพิษซึ่งควรหลีกเลี่ยงที่จะทาน เพราะพิษของแมงดาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้หากสังเกตไม่ดีพอ
กระทรวงสาธารณสุขจึงออกมาเตือนประชาชนที่โปรดปรานอาหารไทยที่มีส่วนไข่ของแมงดาเป็นส่วนประกอบให้ระวังพิษที่รุนแรงเหมือนพิษปลาปักเป้า ซึ่งร้ายแรงขนาดที่ความร้อนก็ไม่อาจทำลายพิษได้ โดย 5 ปีที่ผ่านมา มีประวัติพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากไข่ของแมงดากว่า 33 ราย และเสียชีวิตถึง 3 ราย เพื่อความปลอดภัย ตามเราไปดูสาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปพร้อมกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
พาไปทำความรู้จักกับแมงดาทะเล นอกจากไข่แมงดาถ้วย มีชนิดไหนที่รับประทานได้บ้าง
โดยทั่วไปแมงดาในประเทศไทยนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
1.แมงดาจาน (Tachypleus gigas)
แมงดาชนิดที่ไม่มีพิษ เนื้อและไข่แมงดาจานมักนำมาประกอบอาหาร สังเกตได้จากลักษณะภายนอกจะมีขนาดใหญ่กว่าแมงดาถ้วย อาจมีขนาดเมื่อโตเต็มที่ถึง 30 เซนติเมตร มักเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “แมงดาทะเลหางเหลี่ยม” เพราะหากดูหน้าตัดจะเห็นหางเป็นทรงสามเหลี่ยม โดยมุมด้านบนของสามเหลี่ยมนั้นจะปรากฏรอยหยักชัดเจน มักอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล และวางไข่ตามดินทรายริมชายฝั่ง
2.แมงดาถ้วย หรือ แมงดาไฟ หรือ เห-รา (Carcinoscorpius rotundicauda)
แมงดาที่มีลักษณะภายนอกเล็กกว่าแมงดาจาน โดยมีขนาดตัวโตเต็มที่ไม่เกิน 18 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนจุดสังเกตจะอยู่ที่หางเรียบและกลม อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนหรือตามคลองเล็ก ๆ ในป่าชายเลน และที่สำคัญมีพิษที่เรียกว่าสารเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) และเซซิทอกซิน (Sasitoxin) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับสารพิษที่พบในปลาปักเป้า ไม่สามารถรับประทานได้ เนื่องจากเกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของแมงดา หรือเกิดจากอาหารการกินของแมงดาที่มีพิษ ไม่ว่าจะเป็นตัวแพลงก์ตอนหรือหนอนที่มีแพลงก์ตอน และแน่นอนว่าพิษเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดา เมื่อนำมารับประทานก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
อาการเมื่อร่างกายได้รับพิษจากไข่แมงดาถ้วย พร้อมเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังโดนพิษแมงดาทะเล
สำหรับผู้ที่รับประทานไข่แมงดาถ้วยเข้าไปประมาณ 10-45 นาที หรือบางรายเวลาอาจผ่านไปยาวนานกว่า 3 ชั่วโมงถึงจะแสดงอาการ ขึ้นอยู่กับชนิดของแมงดาทะเล ฤดูกาล แหล่งที่อยู่ ปริมาณที่รับประทาน รวมถึงปริมาณของสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย เนื่องจากการรับประทานไข่ของแมงดาจะแสดงอาการรุนแรงกว่าการเลือกรับประทานเพียงเนื้อ
ส่วนใหญ่มักจะมีอาการชาที่ปาก ลิ้น ปลายมือและปลายเท้า อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย เริ่มจากมือ ไล่ไปยังแขนและขาตามลำดับ บางรายอาจมีอาการวิงเวียนหรือปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ในบางรายยังเคยพบอาการน้ำลายฟูมปาก ตาพร่า พูดลำบาก มีเหงื่อออกมาก อาจถึงขั้นหายใจไม่ออก ระบบหายใจล้มเหลว หมดสติ และสมองขาดออกซิเจน กรณีที่ร้ายที่สุดคือหากช่วยเหลือและรักษาไม่ทัน อาจเสียชีวิตได้ภายใน 6-24 ชั่วโมง
ดังนั้น เมื่อสังเกตแล้วพบว่ามีอาการเหล่านี้หลังทานแมงดาเข้าไป ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างด่วนที่สุด และควรแจ้งแพทย์ทันทีว่าได้รับประทานไข่แมงดาทะเลมา เพื่อให้สามารถได้รับการรักษาที่รวดเร็วและตรงจุด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาหรือแก้พิษจากแมงดาทะเลได้
ในส่วนของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากร่างกายได้รับสารพิษจากไข่แมงดาเข้าไป ให้เริ่มจากการทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้คล่องมากที่สุด โดยจับผู้ป่วยนอนตะแคง ให้หนุนหมอนสูง และรีบโทรเรียกรถพยาบาลโดยด่วน ที่หมายเลข 1669 ระหว่างนั้น ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ นม ไข่ขาว หรือยาชนิดใดก็ตาม เพราะอาจส่งผลให้สำลัก รวมไปถึงเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการอุดกั้นในหลอดลมของผู้ป่วยยิ่งขึ้น หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้รีบทำการผายปอด (CPR) จนกว่าจะส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล
เตือนภัย พิษจากไข่แมงดาถ้วยอันตรายต่อร่างกายแค่ไหน และเมื่อทานแล้วใครเสี่ยงมากที่สุด?
หลายคนเริ่มมีความกังวลว่า หากเผลอไปทานไข่แมงดาถ้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ จะทำให้เกิดอันตรายได้มากขนาดไหน อย่างที่เรากล่าวไปแล้วนั่นว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นชนิดของแมงดาทะเล ฤดูกาล แหล่งที่อยู่ จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายมากน้อยเพียงใดด้วย หากได้รับพิษเพียงน้อยนิด แล้วได้รับการปฐมพยาบาลทันก็ไม่อันตรายมากนัก แต่หากได้รับพิษเข้าไปในปริมาณมากก็อาจเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
กลุ่มเสี่ยงที่หากได้รับพิษจากไข่แมงดาถ้วยแล้วอาจทำให้มีอาการแพ้อย่างหนักหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือ ผู้ป่วยเด็กและหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมสารพิษได้เร็วกว่าคนทั่วไปนั่นเอง
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace