ลูกกระวาน หนึ่งในเครื่องเทศครัวไทยที่มีส่วนช่วยเพิ่มเติมรสชาติอาหารให้จัดจ้านมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นเคล็ดลับความอร่อยของเมนูอาหารหลากสไตล์เลยก็ว่าได้ มาพร้อมกับสรรพคุณทางยาและประโยชน์ของสมุนไพรที่ช่วยบำรุงสุขภาพ วันนี้เราจึงได้หยิบเอาหนึ่งในเครื่องเทศที่นิยมใช้กันในครัวอาหารไทยชนิดนี้ มานำเสนอในแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นถิ่นกำเนิด ประโยชน์และสรรพคุณ รวมถึงตัวอย่างของสูตรอาหารที่มีสมุนไพรเม็ดเล็ก ๆ ชนิดนี้เป็นวัตถุดิบร่วมด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไปติดตามพร้อมกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ชวนส่องที่มาที่ไปของลูกกระวาน ต้นกำเนิดของเครื่องเทศที่นิยมใช้ในครัวเรือน
ลูกกระวาน เป็นผลของสมุนไพรที่มีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น กระวานดำ, กระวานขาว, กระวานแดง, กระวานจันทร์ และอื่น ๆ อีกเพียบ ในภาษาอังกฤษถูกเรียกว่า “Siam Cardamom” เป็นเครื่องเทศที่ได้รับความนิยมจากชาวตะวันตกตั้งแต่ในอดีต ด้วยเอกลักษณ์ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ประกอบกับสรรพคุณทางยาที่มีหลากหลาย โดยสามารถนำหลายส่วนต่าง ๆ ของต้นมาทำเป็นยาได้ ทั้งราก หัว หน่อ เปลือก แก่นใบ รวมถึงผลแก่ และส่วนที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั่นก็คือ “ลูกกระวาน”
กระวานเป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้า เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 2 เมตร ลักษณะของต้นจะเป็นกาบใบที่หุ้มซ้อนกัน คล้ายลำต้น ส่วนใบเป็นใบเดี่ยวแคบและยาว ปลายแหลม ช่อดอกจะงอกจากเหง้าชูขึ้นเหนือพื้นดินเป็นรูปทรงกระบอก กลีบดอกมีสีเหลือง
ลักษณะของผลค่อนข้างกลมและมีสีนวล ภายในแบ่งเป็น 3 พู ผลอ่อนจะเต็มไปด้วยขน เมื่อแก่จะร่วงจนหมด เมล็ดมีขนาดเล็ก เมล็ดอ่อนเป็นสีขาวและตอนแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งในตลาดโลกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
● กระวานแท้หรือกระวานเทศ ผลจะมีลักษณะแบนรี นิยมปลูกในประเทศอินเดีย ศรีลังกา กัวเตมาลา และแทนซาเนีย
● กระวานไทย ผลมีลักษณะกลมอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี ปลูกมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในประเทศอินโดนีเซียและหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ส่วนในประเทศไทยนั้นมีหลักฐานว่า สมุนไพรชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ 2 แห่งนั่นคือ บนภูเขาสูงในจังหวัดจันทบุรีและตราด นอกจากนี้ยังนิยมปลูกกันมาในภาคใต้ ทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังประเทศจีนและฮ่องกง
แนะนำประโยชน์ของลูกกระวาน นำมาใช้ได้ทุกส่วนตั้งแต่รากจนถึงปลายยอด
ความพิเศษของเครื่องเทศชนิดนี้คือ เราสามารถใช้ประโยชน์ของกระวานได้ตั้งแต่รากจนถึงปลายยอดของต้นเลยก็ว่าได้ โดยสรรพคุณของกระวานที่เด่น ๆ สามารถแบ่งได้ดังนี้
● ราก : สามารถนำมาต้มดื่มได้ มีส่วนช่วยในการฟอกเลือด ขับลม และละลายเสมหะ
● หัวและหน่อ : เหมาะสำหรับการใช้เพื่อขับพยาธิในเนื้อ ทั้งยังสามารถนำไปทานคู่กับน้ำพริกได้ด้วย
● เปลือก : นิยมใช้แก้ไข้ แก้อาการตัวเหลือง บำรุงธาตุ และรักษาโรคผิวหนังบางชนิด
● แก่น : ใช้รักษาอาการโลหิตเป็นพิษ
● ใบ : ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม บำรุงร่างกาย
● กระพี้ : ใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง และบำรุงเลือด
● ลูกกระวาน : มีฤทธิ์ช่วยขับลม ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และช่วยให้เจริญอาหารได้มากขึ้น
● เมล็ด : แก้อาการอาหารไม่ย่อย บำรุงธาตุ และช่วยแก้อาการท้องผูกได้ดี
แชร์สูตร “แกงมัสมั่นเนื้อ” เมนูยอดฮิตที่มีลูกกระวานเป็นส่วนประกอบ
เห็นได้ชัดเลยว่าลูกกระวาน เป็นเครื่องเทศที่นิยมใช้กันมากในประเทศเขตร้อน จากรสชาติที่เผ็ดเล็กน้อยและมีรสขมปนหวานอยู่ด้วย สามารถนำมาใช้เพิ่มรสชาติอาหารได้หลายเมนู เวลาใช้ต้องผ่านการคั่วก่อนแล้วจึงบีบให้เปลือกแตก จากนั้นนำเมล็ดข้างในมาโขลกให้ละเอียด กลิ่นหอมจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี สำหรับเมนูอาหารไทยมักนำมาเป็นส่วนผสมของพริกแกง ทั้งแกงเผ็ด แกงกะหรี่ แกงพะแนง รวมถึงมัสมั่นเนื้อที่เรานำมาฝากในวันนี้
ส่วนผสมสำหรับตุ๋นเนื้อ
เนื้อวัวสันคอ 1 กิโลกรัม
หางกะทิ 1,000 มิลลิลิตร
เกลือป่น 2 ช้อนชา
ส่วนผสมสำหรับแกงมัสมั่น
พริกแกงมัสมั่น 200 กรัม
ลูกกระวานคั่ว 5 ลูก
มันเทศ 500 กรัม
หอมใหญ่ 200 กรัม
ถั่วลิสงคั่ว 100 กรัม
หัวกะทิ 250 มิลลิลิตร
หางกะทิ 500 มิลลิลิตร
น้ำมะขามเปียก 100 กรัม
น้ำตาลมะพร้าว 200 กรัม
น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1/2 ช้อนโต๊ะ
วิธีการทำ
1. เริ่มต้นจากการตุ๋นเนื้อวัวให้เปื่อยนุ่มกันก่อน โดยหั่นเนื้อวัวเป็นชิ้นที่มีขนาดใหญ่เล็กน้อย จากนั้นตั้งหม้อ เทหางกะทิใส่ลงไป รอจนเดือดแล้วจึงใส่เนื้อวัวลงไป ตามด้วยเกลือป่น จากนั้นต้มด้วยไฟอ่อน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หรือจนได้ความนุ่มที่ต้องการ
2. ตั้งหม้ออีกใบใส่หัวกะทิลงไป เมื่อเริ่มเดือดให้ใส่พริกแกงลงไป ผัดคลุกเคล้าให้หัวกะทิแตกมันและเข้ากันดี จากนั้นจึงใส่เนื้อตุ๋นลงไปผัดกับพริกแกงจนส่งกลิ่นหอม
3. ใส่มันเทศ หอมใหญ่ ถั่วลิสงคั่ว และลูกกระวานลงไปผัดคลุกเคล้าให้เข้ากัน เมื่อเริ่มสุกแล้วให้ใส่น้ำกะทิที่ใช้เคี่ยวเนื้อตามลงไป เติมหางกะทิเล็กน้อย ต้มต่อจนเดือด
4. ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก น้ำปลา และเกลือป่น คนส่วนผสมให้เข้ากันอีกครั้ง ตุ๋นแกงในหม้อต่อไปด้วยไฟอ่อนอีกประมาณ 30-40 นาที เมื่อครบเวลาราดหัวกะทิด้านบน รอให้แกงเดือดอีกรอบก็เป็นอันเสร็จ
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace