กานพลู หนึ่งในเครื่องเทศครัวไทยที่มักพบอยู่ในอาหารจานเด็ด ทั้งยังเป็นวัตถุดิบที่นิยมใช้ประกอบอาหารในครัวทั่วทุกมุมโลก ไม่เพียงแต่จะใช้สำหรับการแต่งกลิ่นอาหารเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์หลากหลายที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ ในบทความนี้ เราจะพาสายสุขภาพไปทำความรู้จักกับสมุนไพรชนิดนี้ ที่มีสรรพคุณและประโยชน์ซึ่งไม่ควรมองข้าม จะมีอะไรน่าสนใจรออยู่บ้าง ไปติดตามพร้อมกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
“กานพลู” คืออะไร เปิดที่มาที่ไปของสมุนไพรในครัวเรือน
กานพลู เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะสูงใหญ่ โดยมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 5-10 เมตร และบางต้นอาจมีความสูงได้มากถึง 20 เมตร เรือนยอดจะมีลักษณะเป็นยอดกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง ส่วนเปลือกไม้เรียบและเป็นสีเทา
ในส่วนของใบจะเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ก้านเรียวเล็ก ปลายเรียวแหลม ขอบเรียบไม่หยัก ด้านบนของใบมีต่อมน้ำมันมากและเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาล ออกดอกตูม แทงออกตรงปลายยอด และพัฒนากลายไปเป็นผลเดี่ยวที่มีเพียง 1 เมล็ด เป็นรูปไข่ที่มีความรี เมื่อแก่จะกลายเป็นสีแดงเข้มติดไปทางคล้ำ
ต้นกำเนิดของกานพลูอยู่บนหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย จุดเด่นคือกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์ จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น โดยจักรพรรดิจีนใช้อมไว้เพื่อดับกลิ่นปาก แถมยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านยาที่สามารถแก้อาการเจ็บป่วยได้หลากหลาย ทั้งช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องเสีย แก้ไส้เลื่อน รักษาโรคผิวหนัง รวมถึงฮ่องกงฟุต
ต่อมาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 4 กานพลูได้ถูกนำเข้าไปในทวีปยุโรป ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ยากและมีราคาสูงมาก เมื่อถูกนำไปศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพิ่มเติม จึงได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ และใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้น
แน่นอนว่า เมนูอาหารไทยหลายชนิดมีกานพลูเป็นส่วนผสม เนื่องจากในประเทศไทยก็มีการนำมาปลูกบ้าง แม้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกเพื่อใช้เป็นยาและสมุนไพรในครัวเรือนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการใช้ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเน้นไปที่การนำเข้าเครื่องเทศแห้งจากประเทศต้นกำเนิดเป็นหลัก และนำเข้าจากประเทศอื่นเพียงเล็กน้อย
สรรพคุณของกานพลู มีอะไรบ้าง ทานแล้วดีต่อร่างกายอย่างไร
กานพลู สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งส่วนดอกตูม ผล ต้น เปลือก ใบ รวมถึงการสกัดเอาน้ำมันมาใช้ประโยชน์ โดยสรรพคุณที่โดดเด่นคือ สามารถช่วยระงับความเจ็บปวดได้ จากสารสกัดจีนอลในน้ำมันหอมระเหย
ทั้งยังมีฤทธิ์ช่วยรักษาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ เป็นส่วนประกอบสำคัญในตำรับยาไทย อย่างเช่น ยาธาตุ เมื่อผสมรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ สามารถรักษาอาหารท้องอืดท้องเฟ้อได้ดี นอกจากนี้ยังมีตำรับยาประสะกานพลู แก้อาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ
ยังไม่พอแต่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีการนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ลม แก้พิษ พร้อมกับบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต อีกหนึ่งสรรพคุณที่โดดเด่นคือ ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แผลฝีหนอง รวมถึงโรคติดเชื้อในหลายระบบของร่างกาย
ในส่วนของประโยชน์ด้านอื่น ๆ ก็มีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยในการเก็บรักษาอาหารให้คงสภาพได้นานขึ้น ด้วยคุณสมบัติที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ ในวงการอาหารและเบเกอรี่ นอกจากจะเป็นส่วนผสมสำคัญในหลาย ๆ เมนูแล้ว ยังเป็นสารให้กลิ่นวนิลลาที่ใช้ทำเบเกอรี่
หรือจะเป็นคุณสมบัติในการแก้ปวดฟันและแก้ดับกลิ่นปาก ประกอบกับกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ จึงมีการนำไปสกัดเป็นกลิ่นผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ยาสีฟัน น้ำหอม ยาแก้ไอ แถมยังสามารถนำไปย้อมสีผมได้อีกด้วย ปิดท้ายด้วยคุณสมบัติที่ดีต่อคุณแม่ ที่สามารถเพิ่มน้ำนมและบำรุงระบบไหลเวียนเลือด นั่นเอง
แนะนำข้อควรระวังในการใช้กานพลู ป้องกันอันตราย ได้ประโยชน์สูงสุด
แม้ประโยชน์ของกานพลูจะมีอยู่ไม่น้อย แต่ปริมาณและวิธีการใช้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน เพราะหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือใช้ผิดวิธีก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้เช่นกัน เพื่อความปลอดภัย จึงควรศึกษาข้อควรระวังในการใช้กานพลูด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
- น้ำมันที่สกัดได้จากการกานพลู ไม่ควรนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีสารยูจีนอลที่เป็นสารก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่แนะนำให้ใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ไม่แนะนำให้ใช้หรือทานในปริมาณมาก เพราะจะมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นพิเศษ รวมถึงยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เช่นกัน นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับสมุนไพรหรือยาที่มีผลทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และยาที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดด้วย
- น้ำมันกานพลูที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาอาการปวดฟันและใช้เพื่อระงับกลิ่นปาก หากใช้ติดต่อกัน อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเหงือก และเนื้อเยื่อในช่องปากได้ ดังนั้นควรใช้อย่างระมัดระวัง
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace