ยี่หร่า เป็นที่รู้จักกันในฐานะเครื่องเทศครัวไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มักใช้เมล็ดนำมาคั่วบดเป็นส่วนผสมในพริกแกงต่าง ๆ ส่วนใบก็สามารถเด็ดมาประกอบในเมนูหลากสไตล์ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่มีความสำคัญมากต่อครัวอาหารไทย นอกจากจะให้อาหารมีรสชาติอร่อย หอมถูกใจแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย แต่จะมีประโยชน์ในด้านใดบ้าง ลองเข้ามาเรียนรู้และทำความรู้จักเพิ่มเติมไปพร้อมกับเราได้ในบทความนี้
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ยี่หร่า” ทำความรู้จักสมุนไพรไทยแบบเจาะลึก
ยี่หร่า เป็นพืชล้มลุกในตระกูลไม้พุ่มเตี้ย มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 50-80 เซนติเมตร ส่วนของลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม ใบเป็นใบเดียวที่ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ มีลักษณะกลมรี ปลายใบแหลม ขอบหยักคล้ายฟันเลื่อย ออกดอกเป็นช่อ เมล็ดมีลักษณะกลมรี ตอนอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีดำ
เมล็ดยี่หร่าที่นำมาคั่วบดทำเป็นพริกแกงหรือผงสำหรับปรุงอาหารมาจากกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ต้องมาเรียนรู้และทำความเข้าใจกันอีกครั้ง เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ถูกประเภทและใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน นั่นคือ
- ประเภทที่ถูกเรียกว่า “เทียนขาว” จะเรียกว่าเป็นเครื่องเทศแห้งก็คงจะไม่ผิด เพราะเป็นชนิดที่เหมาะกับการนำเมล็ดมาคั่วก่อนจะบดให้ละเอียด สำหรับใช้ประโยชน์เป็นยาและเครื่องเทศ อยู่ในวงศ์ผักชี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cuminum cyminum L. และมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินเดีย รวมถึงจีน จนในที่สุดก็แพร่หลายไปทั่วโลก
- อีกประเภทเป็นสมุนไพรที่มีชื่อเรียกในภาษาไทยหลายชื่อด้วยกัน ทั้งจันทร์หอม เนียมต้น เนียม กะเพราญวน โหระพาช้าง เป็นต้น ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Shrubby basil และชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Ocimum gratissimum L. อยู่ในวงศ์กะเพรา จึงเหมาะกับการนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารแสนอร่อยมากกว่า นั่นเอง
แนะนำประโยชน์ของยี่หร่า จัดมาให้ครบทุกด้าน ใช้งานได้หลากหลาย
ยี่หร่า เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งเราได้ยินชื่อกันอยู่บ่อย ๆ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า จริง ๆ แล้วเครื่องเทศชนิดนี้มีประโยชน์อย่างไร นอกจากจะนิยมนำเมล็ดมาคั่วแล้วโขลกทำเป็นพริกแกง เพื่อประกอบเป็นส่วนผสมในเมนูอาหารไทยหลาย ๆ เมนู ทั้งแกงเผ็ด แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น หรืออาหารจำพวกซุปและยำต่าง ๆ แล้วนั้น
ยังมีคุณสมบัติโดดเด่นที่ช่วยถนอมอาหาร ให้สามารถเก็บไว้ได้นานมากขึ้นด้วย เนื่องจากในน้ำมันหอมระเหยที่มาจากยี่หร่า มีส่วนช่วยในการดับกลิ่นคาวและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ จึงมักนำมาใช้หมักเนื้อสัตว์เพื่อยืดอายุให้สามารถเก็บไว้ทานได้นานขึ้น
เมื่อทานเข้าไปแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ซึ่งจากการทดลองในหนูนั้น สามารถช่วยลดการอักเสบของเซลล์ในตับ ทำให้สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคได้อีกเพียบ ทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดในหัวใจอุดตัน หรือโรคหัวใจ
ส่วนในมนุษย์ยังเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป อย่างไรก็ตามน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเมล็ดและใบยี่หร่านั้น ช่วยให้ระบบย่อยอาหารของมนุษย์ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้ย่อยโปรตีนได้ง่ายขึ้น ลดอาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบขับถ่าย
นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีส่วนสำคัญในการชะลอการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ อย่างโรคมะเร็งและโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไปพร้อมกับการรักษาสมดุลในร่างกาย ในด้านที่ทำให้ร่างกายสามารถดึงวิตามินและแร่ธาตุที่ได้รับไปใช้ได้ปกติ
บอกต่อวิธีการปลูกยี่หร่าไว้ทานเองที่บ้าน ขั้นตอนง่าย ไม่ยุ่งยาก
ในประเทศไทยนั้น นิยมปลูกยี่หร่าไว้เป็นยาและสมุนไพรที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งแน่นอนว่าวิธีปลูกก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด สามารถปลูกในกระถางได้ เนื่องจากมีขนาดเล็ก โดยนิยมปลูกกัน 2 วิธี ดังนี้
- การเพาะเมล็ด : เริ่มต้นจากการเตรียมถุงขนาดเล็ก ใส่ดินและปุ๋ยในปริมาณที่พอเหมาะ จากนั้นโรยเมล็ดพันธุ์ลงไป รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากต้องการปลูกในกระถางหรือแปลงดิน ให้ใส่ดินผสมกับปุ๋ยคอกและกาบมะพร้าว ขุดหลุมเล็ก ๆ เพื่อเตรียมย้ายต้นอ่อน หลังจากนั้นให้แยกต้นอ่อนมาปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้ รดน้ำอย่างสม่ำเสมอและไม่ลืมที่จะวางไว้ในที่ที่โดนแดดจัดตลอดทั้งวัน เมื่อต้นยี่หร่าโตเต็มที่แล้ว ให้คอยตัดแต่งกิ่งและเด็ดดอกทิ้ง เพราะอาจทำให้ต้นโทรมหากมีดอกเยอะเกินไป รอเวลาให้ครบ 20 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว
- การปักชำ : ทำได้โดยตัดกิ่งอ่อนมาปักชำ แนะนำว่าไม่ควรใช้กิ่งแก่ ตัดใต้ข้อในแนว 45 องศา ความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร หากมีใบเยอะให้เด็ดออกเพื่อลดการคายน้ำ เตรียมกระถางหรือแปลงปลูก ใช้เป็นขี้เถ้าหรือทรายละเอียดผสมแกลบเผาและขุยมะพร้าวก็ได้ ขุดเป็นรูเล็ก ๆ แล้วนำกิ่งมาปักชำลงไป กลบวัสดุให้แน่น รดน้ำเช้า-เย็น อย่างสม่ำเสมอ วางไว้ในที่แดดจัดส่องถึงตลอดทั้งวัน รออีก 15-20 วันก็สามารถย้ายไปปลูกในกระถางได้แล้ว
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace