กระเทียมเจียว เป็นหนึ่งในเมนูอาหารไทยที่หลายคนนึกถึงและขาดไปไม่ได้เลย เพราะไม่ว่าจะทานกับเมนูไหนก็ช่วยให้จานเด็ดจานนั้นอร่อยกว่าเดิมหลายเท่าตัว นั่นทำให้เมนูนี้กลายมาเป็นเครื่องเคียงที่ต้องมีติดบ้านเกือบทุกบ้าน แต่จะให้ซื้อเข้ามาทานบ่อย ๆ ก็คงจะไม่สะดวก สู้เข้าครัวทำทานเองแบบสดใหม่ก็คงจะดีไม่น้อย ในบทความนี้ Foodspace จะพาไปดูวิธีทำง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำตามได้
แชร์สูตรเจียวกระเทียมแสนอร่อย แนะนำวิธีทำกระเทียมเจียวให้เหลือง หอม กรอบนาน รับรองติดใจ
เมื่อพูดถึงเมนูอาหารยอดฮิตที่อยู่คู่จานเด็ดอาหารไทย ก็ต้องเป็นกระเทียมที่เจียวจนกลายเป็นสีเหลืองกรอบ ส่งกลิ่นหอมชวนรับประทาน วันนี้เรามีเทคนิคการทำกระเทียมเจียว ที่กลมกล่อมเหมือนได้ไปนั่งทานอยู่ในร้านอาหารดังมาฝากกัน
ส่วนผสม
- กระเทียมจีนหรือไทย
- เกลือ
- น้ำมันพืช
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
- ครกและสาก
- กระทะ
- กระชอน
ขั้นตอนและวิธีในการทำกระเทียมเจียว
- ขั้นตอนแรกให้เริ่มจากการเตรียมวัตถุดิบที่ดีที่สุด จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการเลือกกระเทียมจีนหรือไทยที่มีกลีบเล็ก นำมาปอกเปลือกแล้วล้างทำความสะอาด แล้วสะเด็ดน้ำออกให้หมด
- ขั้นตอนต่อไปให้นำกระเทียมมาบุบเล็กน้อย หรือจะนำไปโขลกหยาบ ๆ ก็ได้เช่นกัน แล้วเลือกเอาเปลือกกระเทียมแข็ง ๆ ออกให้เหลือแค่เปลือกอ่อน ๆ ติดอยู่ด้านใน
- ตั้งน้ำมันในกระทะพอให้น้ำมันท่วมกระเทียม โดยที่ยังไม่ต้องเปิดเตา แล้วปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย
- เปิดเตาโดยใช้ไฟกลางค่อนไปทางอ่อน รอจนกว่าน้ำมันจะร้อน แต่ต้องไม่ร้อนจัด เพราะอาจทำให้กระเทียมไหม้ได้ จากนั้นใส่กระเทียมลงไปเจียว โดยให้ใช้ตะหลิวคนไปมา และต้องระวังไม่ให้กระเทียมติดกระทะโดยตรง หมั่นคนวนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ความร้อนเข้าถึงทั่วกัน
- เมื่อกระเทียมมีสีเหลืองกรอบพอดีแล้วให้ปิดเตาแล้วตักขึ้นทันที เคล็ดลับคือ ไม่ควรรอให้กระเทียมสุกเหลือและกรอบจนเกินไปในกระทะ เพราะเมื่อตักขึ้นมาแล้ว แน่นอนว่าความเดือดของน้ำมันจะยังคงอยู่ในตัวกระเทียม หากตักขึ้นมาช้าจะทำให้กระเทียมไหม้ ดังนั้นให้สังเกตตอนที่กระเทียมเริ่มขึ้นสีเหลืองก็สามารถตักขึ้นได้เลยทันที
- เรียกได้ว่าเป็นเมนูทำง่ายที่ขั้นตอนไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด ระหว่างที่พักกระเทียมไว้ให้เย็นสนิท ให้ใช้กระชอนกรองน้ำมันออกจากกระเทียม เพื่อเก็บไว้ใช้ทอดอย่างอื่นต่อได้ และเมื่อกระเทียมเย็นตัวลงก็ให้เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด
บอกต่อประโยชน์ของวัตถุดิบหลักในการทำ กระเทียมเจียว ทานคู่กับอะไรก็อร่อย แถมได้ประโยชน์เต็มคำ
ในที่นี้ ไม่ว่าคุณจะเลือกกระเทียมไทยหรือจีนมาทำกระเทียมเจียว ก็เตรียมตัวรับประโยชน์หลากหลายจากวัตถุดิบหลักชนิดนี้ได้เลยแบบจัดหนักจัดเต็ม พิสูจน์มาแล้วว่ากระเทียมนั้นเป็นเครื่องเทศที่อัดแน่นไปด้วยสรรพคุณมากมาย แถมยังมีสารบางอย่างที่มีความโดดเด่นและหาทานไม่ได้จากพืชชนิดไหน ตามที่เราได้รวบรวมมาเป็นตัวอย่างได้ต่อไปนี้
- อุดมไปด้วยสารอัลไลซิน สารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการลดไขมัน ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้บางส่วน ทั้งนี้จะมีส่วนช่วยได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน
- น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากกระเทียม มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ทั้งนี้กระเทียมยังมีรสเผ็ดร้อน ซึ่งมีส่วนช่วยในการขยายทางเดินหายใจ จึงบรรเทาอาการหวัดได้ดี ทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น
- กระเทียมมีส่วนช่วยบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบ หากนำไปตำกับขิงสดแล้วละลายด้วยน้ำอ้อยสด หลังจากจิบจะช่วยให้อาการไอดีขึ้น
- กระเทียมมีสาร Gastroenteric allechalcone เข้าไปเป็นตัวเร่งการบีบตัวของลำไส้ ขับลมได้ดี ลดอาการแน่นท้อง อาการจุกเสียดจากอาหารไม่ย่อยได้
- กระเทียมเป็นแหล่งรวมไฟเบอร์ที่ดี 2 ชนิด ได้แก่ ไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วว่า กระเทียมมีฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรีย หลายคนจึงได้เห็นการรักษาสิวด้วยการฝานกระเทียมสดวางลงบนบริเวณที่มีสิวอยู่บ่อย ๆ ตามภูมิปัญญาไทย แถมยังนิยมนำมารักษากลากเกลื้อนที่เกิดจากเชื้อราได้อีกด้วย
- นอกจากนี้ หากนำกระเทียมไปบดแล้วแช่ในน้ำอุ่น จากนั้นนำเท้าลงไปแช่ก็จะสามารถช่วยลดกลิ่นเท้า ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ของใครหลายคนได้ดี
- สำหรับใครที่มีอาการคันจากแมลงและสัตว์กัดต่อย กระเทียมก็ช่วยให้อาการทุเลาลงได้เช่นกัน เนื่องจากน้ำมันในกระเทียมลดพิษที่ได้รับมาได้
- หากนำส่วนประกอบของกระเทียมไปรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ก็จะมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมถึงช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ด้วย
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
โทษของการทานกระเทียมมากเกินไป เลือกทานในปริมาณที่พอดีและเหมาะสมจึงจะดีที่สุด
และถึงแม้เราจะได้กระเทียมเจียวตามสูตรอาหารไทย ออกมาเสิร์ฟในจานที่มีกลิ่นหอม สีเหลืองสวย เคี้ยวกรอบสักเพียงใด ก็ต้องอดใจเลือกทานแต่พอดี เพราะถึงแม้กระเทียมจะมีประโยชน์มากมายเพียงใด แต่อะไรก็ตามที่เกินพอดี ก็อาจนำมาซึ่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน เช่น ภาวะเลือดแข็งตัวช้า อาการปวดท้อง อาเจียน และวิงเวียนศีรษะ โดยกลุ่มที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งคือ กลุ่มที่มีอาการแพ้กระเทียม สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร