ก้อยกุ้ง เป็นเมนูอาหารไทยที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เนื่องจากปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ที่รู้จักกันในชื่อ “บทเห่ชมเครื่องคาวหวาน” โดยมีความว่า “ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น วางถึงลิ้นดิ้นแดโดยรสทิพย์หยิบมาโปรย ฤาจะเปรียบเทียบทันขวัญ” ในบทความนี้เราจึงนำเรื่องราวของเมนูสุดแซ่บนี้มาแบ่งปันให้ได้รู้จักกันมากขึ้น พร้อมแนะนำวิธีการทำเมนูแบบง่าย ๆ ให้ได้ลองทำตาม
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักก้อยกุ้ง เมนูอาหารที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน
ก้อยกุ้ง เป็นเมนูจากกุ้งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เมนูอื่น ๆ มีลักษณะคล้ายพล่า ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ บวกกับความแปลกใหม่ที่เมื่อนำกุ้งฝอยมายำสด ๆ กุ้งก็จะกระโดดไปมา ทำให้ก้อยกุ้งถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “กุ้งเต้น” รสชาติโดยรวมจะมีความเปรี้ยว เค็ม และเผ็ด อร่อยกลมกล่อม
แบ่งปัน 3 สูตรการทำก้อยกุ้ง ความอร่อยที่แตกต่าง
สูตรที่เรานำมาฝากในวันนี้เป็นสูตรก้อยแบบง่าย ๆ เชื่อว่าทุกคนสามารถทำตามกันได้ ซึ่งมีทั้งสูตรต้นตำรับของชาวอีสาน หรือจะเป็นเมนูนำพริกสำหรับทานกับเครื่องเคียงที่เป็นผักสด รวมไปถึงก้อยกุ้งจานเด็ดที่ทำจากกุ้งตัวใหญ่ รับรองว่าแต่ละสูตรจะต้องอร่อยถูกใจสายแซ่บกันอย่างแน่นอน
1.ก้อยกุ้งสูตรดั้งเดิม
ส่วนผสม
กุ้งฝอยสด ๆ ตัวเป็น ๆ
หอมแดง ซอยบาง ๆ
พริกขี้หนูสดหั่นเป็นแว่นบาง ๆ
พริกป่น
ตะไคร้ซอย (ตัดที่แข็งออก)
ข้าวคั่ว (คั่วใหม่ ๆ) โขกละเอียด
น้ำปลา
ใบสะระแหน่ เด็ดเป็นใบ ๆ ไม่หั่น
ต้นหอมใบผักชีฝรั่ง
ผักชีจีน
ใบมะกรูดหั่นฝอย
มะนาว
มะกอก (มะกอกที่ใส่ส้มตำ)
ผักแพว
วิธีการทำ
เริ่มต้นด้วยการเตรียมวัตถุดิบทั้งหมด นำมาล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย จากนั้นนำกุ้งฝอยใส่ลงในชามผสม ตามด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว มะกอก จากส่วนผสมที่ใส่ลงไป จะทำให้บรรดากุ้งมีอาการดิ้นซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมนูที่ถูกเรียกว่า กุ้งเต้น ดังนั้นจึงต้องหาฝามาปิดขณะทำเมนูก้อยกุ้งนี้ มะกอกจะทำให้เมนูนี้มีสีดำ หากไม่ชอบสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำมะนาวแทนได้ จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันและปรุงเพิ่มเติมตามชอบ ขั้นตอนต่อไปให้ใส่ข้าวคั่วและพริกป่นลงไปและคนผสมให้เข้ากัน สุดท้ายใส่ต้นหอม ผักชี ผักแพว ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ ตะไคร้ และใบมะกรูด แล้วคนผสมให้เข้ากันดี เพียงเท่านี้ก็จะได้เมนูสุดแซ่บน่ารับประทานแล้ว
2.น้ำพริกก้อยกุ้ง
ส่วนผสม
ถั่วทองคั่วให้หอม
กุ้งขาวปอกเปลือก
น้ำพริกเผา
หัวกะทิ
น้ำมะขามเปียก
น้ำมะนาว
น้ำปลา
น้ำตาลทราย
มันกุ้ง
น้ำสะเออะ (น้ำกุ้งที่คั้นเก็บไว้)
วิธีการทำ
เริ่มจากการนำกุ้งมาโขลกให้ละเอียด แล้วใส่น้ำพริกเผาตามลงไปแล้วโขลกรวมกัน จากนั้นเตรียมตั้งหม้อแล้วใส่หัวกะทิลงไป รอให้กะทิแตกมันแล้วนำส่วนผสมกุ้งที่โขลกเตรียมใส่ตามลงไป เติมน้ำมะขามเปียก น้ำมะนาว น้ำปลา และน้ำตาล คนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน นำส่วนผสมทั้งหมดออกจากหม้อใส่ลงในชามผสมแล้วใส่ถั่วทองบดละเอียด มันกุ้ง น้ำสะเออะแล้วคนผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในหม้อแล้วนำไปตั้งไฟอีกครั้ง เคี้ยวจนน้ำพริกเริ่มข้นและหนืดไม่เหลวเป็นน้ำ ชิมรสชาติและปรุงตามชอบก็เป็นอันเสร็จสิ้น พร้อมเสิร์ฟความอร่อย ทานคู่กับผักสด รับรองว่าจะเพิ่มความอร่อยได้อีกหลายระดับ
3.ก้อยกุ้งดิบตัวใหญ่
ส่วนผสม
พริกป่น ตามความชอบ
ข้าวคั่ว
ตะไคร้ซอยบาง
พริกแดงซอย
ต้นหอมผักชีฝรั่งซอย
มะนาว
กุ้งขาวตัวใหญ่ (หรือขนาดตามชอบ) ปริมาณตามต้องการ
วิธีการทำ
วิธีทำก้อยกุ้งตัวใหญ่ไม่ได้มีความแตกต่างจากก้อยที่ใช้กุ้งฝอยมากนัก ขั้นตอนแรกเริ่มจากการนำพริกป่น ข้าวคั่ว น้ำปลา และน้ำตาลเล็กน้อยใส่ลงในชามผสม จากนั้นบีบมะนาวจำนวน 3-4 ลูกลงไป หรือกะปริมาณให้พอดีกัน แล้วคนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี จากนั้นนำกุ้งลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง ตามด้วยพริกแดงซอย ตะไคร้ซอย ต้นหอมและผักชีซอยตามลงไป คนให้เข้ากันดีอีกครั้ง ชิมรสชาติให้ได้ความเปรี้ยวนิด ความเค็มหน่อย เมื่อได้รสชาติตามต้องการแล้ว ให้ตักใส่จานเสิร์ฟ แต่งจานด้วยมะนาวหั่นแว่นบาง ๆ
แนะนำประโยชน์ของ “กุ้งฝอย” วัตถุดิบหลักของเมนูก้อยกุ้ง
การทำก้อยกุ้งในอดีตนั้น ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ เหมือนในปัจจุบัน เพราะกว่าจะทำได้จะต้องลงไปจับกุ้งฝอยกันเองตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีกุ้งฝอยขายตามท้องตลาดทั่วไป อีกทั้งยังสดและสะอาดอีกด้วย ทำให้กุ้งฝอยกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งกันเลยทีเดียว การเลี้ยงก็ใช้ต้นทุนที่น้อย แต่สร้างรายได้กลับมาที่มาก เลี้ยงง่าย ขายได้ไว ที่สำคัญสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปีและทำได้หลากหลายเมนู
เมื่อกุ้งฝอยเป็นสัตว์เศรษฐกิจก็มีการถามถึงคุณค่าทางโภชนาการที่ควรจะได้รับ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งกุ้งฝอยนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการอย่างแน่นอน ซึ่งประกอบไปด้วยโปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, เหล็ก, แคลเซียม และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นการทานกุ้งฝอยซึ่งเป็นวัตถุดิบจากท้องถิ่นนั้น ไม่เพียงแต่จะให้ประโยชน์กับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในเวลาเดียวกันด้วย
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace