แกงเลียง หนึ่งในเมนูอาหารไทยแสนอร่อยที่มีความพิเศษไม่แพ้แกงอื่น ๆ โดยในถ้วยแกงนี้เปรียบเหมือนศูนย์รวมของผักที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทานง่าย แถมยังทำง่ายในไม่กี่ขั้นตอน เพียงเข้ามาทำความรู้จักกับเมนูอาหารพื้นบ้าน แล้วจดสูตรเด็ดที่เรานำมาฝากในวันนี้ไปทำตาม รับรองว่าจะได้อาหารเพื่อสุขภาพที่ทานได้บ่อย ไม่มีเบื่อ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จัก “แกงเลียง” เมนูอาหารพื้นบ้านแบบไทยแท้
แกงเลียง นับว่าเป็นอาหารพื้นบ้านของคนไทย ที่มีต้นกำเนิดมาอย่างยาวนาน โดยหลักฐานชิ้นแรกที่มีการกล่าวถึงคือหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 พร้อมกับระบุไว้ว่า “แกงเลียง, เขาเอาปลาย่าง กะปิ เกลือ หัวหอม, ตำละลายน้ำเป็นน้ำแกง, แล้วตั้งไฟให้ร้อนใส่ผักตามชอบใจ” ทำให้ทราบว่าแกงโบราณนี้อยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
แนะนำสูตรการทำ “แกงเลียง” ทำอย่างไรให้อร่อย ถึงเครื่อง
สูตรแกงเลียงสูตรนี้ เป็นสูตรง่าย ๆ ที่ทำทานได้บ่อย ไม่มีเบื่อ นอกจากจะเต็มไปด้วยสมุนไพรไทยหลากหลายชนิด ก็ยังมีรสชาติอร่อยตามตำรับไทยแท้ ที่สำคัญวัตถุดิบทั้งหมดนี้สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป แล้ววิธีทำแกงเลียงจะเป็นอย่างไร ไปติดตามพร้อมกันได้เลย
ส่วนผสมพริกแกง
- กุ้ง 150 กรัม
- หอมแดง 50 กรัม
- กระชาย 50 กรัม
- พริกไทยเม็ด 1 ช้อนโต๊ะ
- กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
ส่วนผสมแกงเลียง
- กุ้ง 400 กรัม
- ฟักทอง 150 กรัม
- บวบเหลี่ยม 150 กรัม
- ใบตำลึง 50 กรัม
- เห็ดออรินจิ 100 กรัม
- เห็ดฟาง 100 กรัม
- เห็ดหลินขาว 100 กรัม
- ข้าวโพดหวาน 50 กรัม
- ใบแมงลัก 50 กรัม
- น้ำปลาแท้ 3 ทัพพี (8 ช้อนโต๊ะ)
- น้ำตาลโตนด 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำ 1 ลิตร
วิธีการทำ
- นำกุ้งมาแกะเปลือกออกและล้างทำความสะอาด ก่อนจะผ่าหลังเอาเส้นดำออกแล้วพักไว้
- เตรียมตั้งหม้อแล้วใส่น้ำเปล่าลงไป ต้มน้ำให้พอเดือด แล้วนำกุ้งที่เตรียมไว้ลงไปลวกให้สุก จากนั้นนำไปน็อคในน้ำแข็ง เมื่อเย็นได้ที่แล้วให้แบ่งกุ้งลวกส่วนหนึ่งไว้ทำพริกแกง ส่วนน้ำลวกกุ้งให้เก็บไว้ทำน้ำสต็อค
- นำกระชายและหอมแดงมาสับให้ละเอียดแล้วพักไว้
- นำพริกไทยเม็ดไปโขลกให้ละเอียด ใส่กระชายและหอมแดงที่สับไว้ตามลงไป จากนั้นโขลกให้แหลกพอหยาบ ปิดท้ายด้วยการใส่กะปิและกุ้งลวกที่แบ่งไว้แล้วโขลกให้เข้ากันดี
- ตั้งหม้อต้มน้ำสต็อคให้เดือด ก่อนจะใส่ฟักทอง เห็ดฟาง เห็ดหลินขาว และเห็ดออรินจิลงไปต้มจนสุก
- เมื่อน้ำเดือดอีกครั้ง ให้ใส่ข้าวโพดและบวบเหลี่ยมลงไปต้มจนบวบนิ่ม จากนั้นใส่ใบตำลึงลงไป ตามด้วยพริกแกงที่ตำไว้ คนให้พริกแกงละลายเข้ากัน
- ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลโตนด ก่อนจะใส่กุ้งลวกและใบแมงลักลงไปคนให้ส่วนผสมในหม้อเข้ากัน ต้มต่อไปจนเดือดดีแล้วให้ปิดเตาและตักเสิร์ฟได้เลย
How to ปรับสูตรแกงเลียง เมนูเพื่อสุขภาพ เพิ่มคุณค่าทางอาหาร
เห็นได้ชัดเลยว่า ลักษณะเด่นของแกงเลียงจะเป็นแกงผักรวม ซึ่งสามารถใส่ผักอะไรลงไปก็ได้ จึงถือว่าเป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ แถมยังเป็นยาได้อีกด้วย ดังนั้นประโยชน์ของแกงเลียงจึงสามารถครีเอตออกมาได้ตามความต้องการเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย ป้องกันหรือรักษาอาการเจ็บป่วยได้ไม่ยาก และหากต้องการมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงตลอดทั้งปี แนะนำให้ปรับสูตรความอร่อยให้เข้ากับช่วงฤดูต่าง ๆ ของบ้านเราดังนี้
- ฤดูร้อน : ผักที่ควรใช้เป็นวัตถุดิบคือผักที่ทำให้รู้สึกเย็นจำพวกฟักเขียว น้ำเต้า แตงกวา ใส่รวมกับผักอื่น ๆ ทั่วไป อย่างข้าวโพดอ่อน บวบหอม บวบเหลี่ยม ตำลึง แตงโมอ่อน ผักปลัง มะระหวาน เป็นต้น และถ้าใส่พริกไทยกับใบแมงลัก แนะนำให้ใส่ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป
- ฤดูฝน : ผักที่ใส่ควรเป็นผักพื้นบ้านที่มีรสเผ็ดร้อน ซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งต้นข่าอ่อน ต้นกระทืออ่อน และสามารถใส่รวมกับผักอื่น ๆ ตามชอบ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดอ่อน ฟักทอง บวบหอม บวบเหลี่ยม ผักหวานป่า หรือผักเหมียงก็ใส่ลงไปเพิ่มคุณค่าทางอาหารได้เช่นกัน ที่สำคัญต้องเพิ่มปริมาณของพริกไทย ใบแมงลัก รวมถึงเพิ่มเครื่องปรุงอื่น ๆ ให้มีรสเผ็ดและหลีกเลี่ยงผักที่ทำให้รู้สึกเย็น นั่นคือ แตงกวา ฟักเขียว น้ำเต้า
- ฤดูหนาว : ช่วงที่อากาศอยู่ภาวะที่เย็นและแห้ง จะทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย ควรเลือกผักที่มีรสมัน เนื้อแข็งกรอบ เพื่อเป็นการเพิ่มกากใยอาหาร แต่ยังคงไว้ซึ่งปริมาณของพริกไทยและใบแมงลัก เพื่อให้มีรสเผ็ด แต่ไม่จำเป็นต้องเผ็ดมาก ผักที่แนะนำก็จะเป็น ผักเหมียง ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน ผักกูด ฟักทอง และให้หลีกเลี่ยงผักรสเย็น อย่างแตงกวา ฟักเขียว น้ำเต้าเช่นเดิม
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace