ประเทศเขตร้อนอย่างเมืองไทยที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบในการทำอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะอาหารคาวหวานก็รังสรรค์กันมาให้เลือกทานกันได้อย่างมากมาย ทั้งยังมีเมนูประจำฤดูกาลที่น่าสนใจอีกเพียบ ข้าวหมาก เป็นหนึ่งในอาหารหวานโบราณที่ได้รับความนิยมมากในช่วงหน้าร้อน รสชาติหวานสดชื่น ยิ่งแช่เย็นไว้จะให้ความละมุนที่ดีต่อใจ แต่หาทานได้ยากในปัจจุบัน หลายคนจึงมองหาสูตรการทำที่ง่าย ๆ มาทำทานเองที่บ้านให้หายคิดถึงกัน วันนี้เราจึงไม่พลาดที่จะนำเสนอเรื่องราวของเมนูอาหารที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
พาไปทำความรู้จักกับข้าวหมาก แนะนำที่มาที่ไปของเมนูของหวานโบราณที่ไม่ควรพลาด ต้องลองสักครั้ง
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ข้าว” ไม่ได้เป็นเพียงอาหารหลักที่คนไทยทานกันเท่านั้น แต่มักจะถูกหยิบมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในเมนูต่าง ๆ ที่คิดค้นและดัดแปลงให้มีความหลากหลายมากขึ้น สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ผ่านการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้เป็นเมนูขนมไทยดั้งเดิมที่ดีต่อสุขภาพอย่าง “ข้าวหมาก” เมนูขนมหวานที่นำเอาข้าวเหนียวมาผ่านกระบวนการหมักกับราและยีสต์ ในรูปแบบของแป้งหรือที่หลายคนเรียกกันว่าลูกแป้ง เกิดปฏิกิริยาเคมีที่เปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล ได้เมนูแป้งข้าวหมากที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มละมุน รสหวานนำ มีรสเปรี้ยวปลาย ๆ และมีฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาพที่คุ้นเคยคือขนมชนิดนี้จะถูกห่อด้วยใบเตยวางขายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งปัจจุบันหาทานได้ยาก
แนะนำประโยชน์ของข้าวหมาก เมนูของหวานแสนอร่อยที่เต็มไปด้วยประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร
ข้าวหมาก เป็นเมนูคลายร้อนที่มีประโยชน์หลากหลาย อุดมไปด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่ดีต่อลำไส้ ซึ่งเรารู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนั่นคือ โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่พบอยู่ในนมเปรี้ยว มีคุณสมบัติช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสารที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตกรดอินทรีย์ ช่วยบำรุงกระดูกและเม็ดเลือดให้แข็งแรง มาพร้อมกับสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ พร้อมบำบัดโรคเรื้อรังหลายชนิดได้ แถมยังมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวพรรณ บำรุงเลือด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
แชร์สูตรการทำข้าวหมากง่าย ๆ มือใหม่ก็ทำตามได้ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากวุ่นวาย ได้รสชาติตามแบบต้นตำรับ
สำหรับใครที่คิดถึงเมนูข้าวหมาก และกำลังมองหาสูตรทำข้าวหมากอยู่ ลองเข้ามาจดสูตรที่เรานำมาฝากแล้วนำไปทำตามกันได้ รับประกันความอร่อย ถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย
ส่วนผสมในการทำข้าวหมาก
- ข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม
- ลูกแป้งข้าวหมาก 2-3 ลูก
- ใบตองสำหรับห่อ
ขั้นตอนและวิธีการทำ
- เริ่มต้นขั้นตอนแรกด้วยการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ควรเลือกข้าวเหนียวที่ไม่เก่าและไม่ใหม่จนเกินไป นำมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาด 1-2 ครั้ง จากนั้นแช่น้ำทิ้งไวประมาณ 3 ชั่วโมง
- เมื่อครบเวลาแล้วให้รินน้ำที่แช่ข้าวเหนียวออก ก่อนจะนำไปล้างอีกครั้งแล้วสะเด็ดน้ำออกให้เรียบร้อย
- ขั้นตอนนี้ให้นำข้าวเหนียวไปนึ่งโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาทีจึงค่อยกลับข้าวเหนียวที่อยู่ข้างล่างขึ้นแทน จากนั้นนึ่งต่ออีก 10 นาที เพื่อให้ข้าวเหนียวสุกทั่วถึงกัน เคี้ยวแล้วไม่เป็นไต
- หลังจากข้าวเหนียวสุกได้ที่ นำออกจากหม้อใส่ภาชนะให้ข้าวคลายความร้อนจนเย็นตัวลง แล้วนำไปล้างอีก 2-3 ครั้งในน้ำใสสะอาด
- ลองใช้มือถูเบา ๆ หากพบว่าข้าวเหนียวไม่มีเนื้อใส หรือน้ำล้างที่ออกมามีลักษณะใสแล้ว ค่อยใส่ตะแกรงผึ่งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
- นำลูกแป้งข้าวหมากที่เตรียมไว้มาบดให้ละเอียด จากนั้นนำไปโรยบนข้าวเหนียวและใช้ไม้พายคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- ตักข้าวเหนียวที่เตรียมไว้ใส่ในภาชนะที่มีฝาปิด แล้วปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ประมาณ 2 วันก็จะได้เมนูของหวานสูตรโบราณไว้ทานคลายร้อนกันแล้ว
เคล็ดลับในการทำข้าวหมาก
- เนื่องจากกรรมวิธีในการทำข้าวหมากไทยต้องผ่านกระบวนการหมักอย่างน้อย 2 วันขึ้นไป ดังนั้นเรื่องความสะอาดเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะจะส่งผลต่อรสชาติของข้าวเหนียวโดยตรง หากมีสิ่งปนเปื้อนก็อาจทำให้รสชาติผิดเพี้ยนไปได้
- ขั้นตอนในการคัดเลือกข้าวเหนียวก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจเลือกเป็นอย่างดี โดยจะต้องไม่มีเมล็ดข้าวอื่นปะปนมา เพราะอาจทำให้ข้าวเหนียวสุกไม่เท่ากันและอาจกลายเป็นไต ซึ่งข้าวเหนียวใหม่จะเป็นข้าวเหนียวที่มีลักษณะนิ่มแฉะกว่าข้าวเก่าเมื่อนำมานึ่ง
- การเลือกลูกแป้งที่มีคุณภาพดี จะช่วยส่งเสริมให้ขนมหวานของเรานั้นมีรสชาติกลมกล่อมพอดี จึงควรเลือกลูกแป้งที่ไม่เก่าเกินไป เพราะเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในลูกแป้งอาจเหลือน้อย
- ในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ทำเมนูขนมโบราณชนิดนี้ควรแยกจากอุปกรณ์ครัวทั่วไป
- ขั้นตอนการเตรียมนึ่งข้าวเหนียวต้องรอให้น้ำไหลออกจากหวดจนสะเด็ดน้ำ จากนั้นจึงสามารถนำไปนึ่งได้ เพราะถ้าไม่รินให้น้ำสะเด็ดจนหมด อาจทำให้ข้าวเหนียวแฉะกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้มีรสชาติเปรี้ยว
- หลังจากเตรียมส่วนผสมและผ่านขั้นตอนการทำเรียบร้อยแล้ว แม้แต่ขั้นตอนการหมักก็ควรเก็บข้าวเหนียวไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดและอยู่ในที่ที่สะอาด
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace