ถั่วพู ไม่ได้เป็นแค่ผักรสจืดจิ้มน้ำพริกทั่วไป หากใครเคยกิน “ยำถั่วพู” ก็น่าจะรู้ว่านี่คือสุดยอดเมนูที่รสชาติอลังการ สมศักดิ์ศรีอาหารไทย เครื่องน้ำยำแบบโบราณ ใส่กะทิ ได้รสเผ็ดกำลังดี กลมกล่อม กลิ่นหอม สัมผัสกรอบ ทานคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยแสงออกปาก ส่วนจะมีกรรมวิธีการทำยำแตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร ต้องเตรียมวัตถุดิบอะไรบ้าง วันนี้เรามีสูตรยำรสแซ่บ ถึงเครื่อง ทำกินเองได้ ทำขายก็ดีมาฝาก
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
วิธีทำยำถั่วพู แบบไทยโบราณ สูตรน้ำยำกะทิรสเด็ด บอกหมดไม่กั๊ก
หากกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ “ยำถั่วพู” ก็อาจจะต้องย้อนไปในช่วงตอนต้นของเมนูยำในยุคโบราณ ซึ่งมีส่วนผสมของกะทิ ไม่ใช่ยำรสเปรี้ยว หวาน เผ็ดโดดเฉกเช่นปัจจุบัน สันนิษฐานว่าน้ำยำกะทินั้นได้รับอิทธิพลมาจาก “กาโด กาโด” อาหารประจำชาติของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งนำผักต้มหลากชนิดมารวมไว้ในจานเดียว แล้วราดน้ำยำซึ่งทำจากเครื่องพริกแกงเคี่ยวกะทิ
ทั้งนี้ยำถั่วพู จัดว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยโบราณ ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วว่าจะนำผักรสจืด มีกลิ่นเขียว แต่เนื้อสัมผัสกรอบมาปรุงแต่งอย่างไรให้กินอร่อย ถั่วพูยำแฝงไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย แม้คนรุ่นหลังไม่ค่อยรู้จัก แต่หากนำมาเผยแพร่ ทำการตลาดให้รุ่นหลังได้เข้าถึงรสชาติ อาจขึ้นชื่อหนึ่งในอาหารจานอนุรักษ์ที่คนรุ่นใหม่หวงแหนก็เป็นได้
ยำถั่วพู กี่แคล?
โดยทั่วไปยำถั่วพู ถือเป็นอาหารจานหนัก ให้พลังงาน 350-400 กิโลแคลอรีโดยประมาณ ขึ้นอยู่กับการปรับสูตรของแต่ละคน แต่ถ้าถามถึงถั่วพู ประโยชน์ของเขาก็มีมากมาย เป็นผักที่มีกากใยสูง ส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ทั้งนี้เขาคือผักที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทริปซิน (Trypsin) หากกินในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายย่อยโปรตีนได้น้อยลง จึงควรนำไปต้มให้สุกก่อนรับประทาน
ยำถั่วพู ต้องใส่อะไรบ้าง?
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ไม่รู้ว่ายำกะทิ ถั่วพูจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเดินจ่ายตลาด เราขอแบ่งสิ่งที่ต้องเตรียมออกเป็นสองส่วนดังนี้
วัตถุดิบในส่วนน้ำยำ
– พริกเผา 2 ช้อนโต๊ะ
– น้ำตาลปี๊บ 3 ช้อนโต๊ะ (รสหวานกลาง)
– น้ำมะนาว 6 ช้อนโต๊ะ
– น้ำปลา 6 ช้อนโต๊ะ
– กะทิต้มสุก หรือนมข้นจืด 3 ช้อนโต๊ะ (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง)
– ถั่วลิสงป่น 4 ช้อนโต๊ะ
– พริกจินดาแดง (ตามความชอบ)
วัตถุดิบส่วนเครื่องยำ
– ถั่วพู 200 กรัม
– หมูสับ 200 กรัม
– กุ้งสด 400 กรัม
– หอมแดง (ตามต้องการ)
– หอมเจียว (จะไม่ใส่ก็ได้)
วิธีทำน้ำยำกะทิ สูตรโบราณ
1. เทน้ำปลาลงในถ้วย
2. เติมน้ำตาลปี๊บลงไป เนื่องจากให้ความหวานที่นุ่มนวลกว่าน้ำตาลทราย และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของช่อดอกมะพร้าว หรือช่อดอกตาล ถ้าหากไม่มีก็สามารถใช้น้ำตาลทรายตามปกติได้เลย
3. ใส่พริกเผาลงไป และคนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน ไม่จับตัวเป็นก้อน
4. เติมน้ำมะนาวเพิ่มความเปรี้ยว แนะนำใช้มะนาวหอม ไม่ควรแทนที่ด้วยน้ำส้มสายชู หรือมะนาวขวดจะทำให้คุณภาพของยำถั่วพูเสื่อมรสชาติลงไปมาก
5. ตามด้วยกะทิ หรือนมข้นจืดเพื่อเพิ่มความมัน
6. เทถั่วลิสงเข้าไปเป็นตัวช่วยรสนัว
7. ตบท้ายด้วยพริกจินดาแดงซอย เพื่อความเผ็ดถึงใจ แต่ไม่เผ็ดจนแสบร้อนปากจนเกินไป
8. คนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันก็จะกลายเป็นน้ำยำสูตรเด็ด แบบไทยโบราณแท้ ๆ แล้วล่ะ
วิธีการทำยำถั่วพู
1. เลือกถั่วพูที่ไม่อ่อน หรือแก่จนเกินไป สีเขียวอ่อนสวย ไม่มีรอยคล้ำ นำมาตัดส่วนหัวและท้ายออก หั่นตามแนวขวางเป็นชิ้นเล็ก
2. แช่น้ำมะนาวทิ้งไว้ประมาณ 1 นาทีเพื่อความสดกรอบมากยิ่งขึ้น หรือแช่น้ำเย็นก็ได้เช่นกัน
3. ระหว่างนั้นเทน้ำสะอาดลงหม้อต้ม ตั้งไฟอ่อนจนน้ำเดือด
4. แกะเปลือกกุ้ง ตัดส่วนหัวและท้ายออก ลวกกุ้งประมาณ 1 นาทีแล้วนำมาน็อกในน้ำเย็นเพื่อให้เนื้อมีความเด้ง แน่นมากยิ่งขึ้น
5. ลวกหมูสับ พยายามยีในน้ำให้เนื้อกระจายตัว อย่าให้หมูติดกันเป็นก้อน แล้วตักขึ้นรอสะเด็ดน้ำ
6. เทกุ้งลวก หมูสับลวก ถั่วพู หอมแดงลงไปในน้ำยำกะทิ ก่อนคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอย่างทั่วถึง และยกลงเสิร์ฟได้เลย
เคล็ดลับความอร่อยมากยิ่งขึ้น
เคล็ดลับในการรับประทานยำถั่วพูให้อร่อยมากยิ่งขึ้น แนะนำโรยหอมเจียวลงไปด้วยจะช่วยเพิ่มความหอม เสิร์ฟและทานคู่กับไข่ต้มยางมะตูมก็ยิ่งเพิ่มความนัว โดยเฉพาะตอนทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ล้อมวงกันทั้งครอบครัวบอกเลยว่าฟินแน่นอน
ไกด์ไลน์รสชาติจากสูตรข้างต้น
สำหรับสูตรยำตามปริมาณวัตถุดิบด้านบน จะให้รสชาติเปรี้ยวนำ ตามด้วยเค็ม หวานกลาง แต่ตัดรสให้ละมุนมากยิ่งขึ้นด้วยกะทิ เพิ่มความมันคูณสองด้วยถั่วลิสง ความกรอบของถั่วพูไม่ผ่านการลวกสุกเข้ากันได้ดีกับกุ้งเนื้อเด้ง
สรุป
เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับสูตร “ยำถั่วพู” รสเด็ด แบบไทยแท้ ทำถึงที่เรานำมาฝากทุกคน ขั้นตอนการทำง่ายดาย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องอาศัยทักษะทางครัวมากมาย เพียงแค่รู้เคล็ดลับการลวกเนื้อสัตว์ และจัดเตรียมวัตถุดิบคุณภาพดี ก็ช่วยส่งเสริมรสชาติได้อย่างน่าทึ่ง ถ้าลองทำตามกันแล้วรู้สึกไม่ถูกใจ ก็สามารถปรับเพิ่ม หรือลดปริมาณเครื่องปรุงกันได้ตามความชื่นชอบเลยนะคะ
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace