ไส้อั่ว หนึ่งในเมนูอาหารเหนือที่ได้รับความนิยมทั้งในหมู่คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หากได้มีโอกาสได้ลิ้มลองรับรองต้องติดใจอย่างแน่นอน ด้วยรสชาติที่จัดจ้านและกลิ่นหอมจากสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมนูง่าย ๆ จากเนื้อหมูบดผสมกับพริกแห้ง ขมิ้น ข่า ใบมะกรูด หอมแดง และเครื่องปรุงรส โดยสูตรที่เรานำมาฝากในวันนี้ สามารถทำทานเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องง้อร้านอีกต่อไป ทั้งนี้ชาวมุสลิมยังสามารถดัดแปลงไปใช้เนื้อสัตว์ชนิดอื่นได้เช่นกัน ก่อนเข้าครัวไปเตรียมวัตถุดิบ ลองแวะมาทำความรู้จักเมนูอาหารเหนือเมนูนี้กันก่อน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ส่องความเป็นมาของไส้อั่ว เมนูอาหารพื้นบ้านของชาวเหนือ
อย่างที่เราได้เกริ่นไปแล้วว่า “ไส้อั่ว” เป็นอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือของไทย โดยคำว่า “อั่ว” มีความหมายว่า การใส่ไส้ การแทรก หรือการยัดไว้ตรงกลาง จึงเป็นที่มาของชื่อเมนูที่หมายถึง ไส้ที่มีการยัดไว้ตรงกลาง ที่นิยมใช้เป็นเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากไอเดียที่คิดค้นวิธีถนอมอาหารของคนสมัยโบราณ ให้สามารถเก็บเนื้อสัตว์ไว้ทานได้นานขึ้น
เนื่องจากในอดีต เมื่อมีงานเทศกาลหรืองานอื่นใด มักมีการล้มหมูจำนวนมาก หากนำมาใช้ประกอบอาหารไม่ทันก็จะเน่าเสียและต้องทิ้งไปโดยสูญเปล่า จึงต้องนำมาถนอมอาหารด้วยวิธีการตากให้แห้ง ย่างไฟ หรือนำมาประกอบอาหารอย่างการทำแหนม รวมถึงไส้อั่วด้วยนั่นเอง
แม้จะเป็นเมนูอาหารที่มีต้นกำเนิดทางภาคเหนือของไทย แต่ไส้อั่วก็เป็นเมนูอาหารที่รู้จักกันดีอย่างแพร่หลายในประเทศ ไม่นิยมทานคู่กับผักเหมือนไส้กรอกทั่วไป แต่มักทานกับข้าวเหนียวร้อน ๆ หรือจะทานคู่กับน้ำพริกก็อร่อยไม่แพ้กัน
และในปัจจุบันได้มีการนำมาทานเป็นอาหารคู่กับงานขันโตกตามแบบฉบับของล้านนา นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงไปใช้วัตถุดิบอื่น ๆ และนำไปประกอบอาหารเมนูอื่นที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ไส้อั่วตับ ผัดกะเพราไส้อั่ว แซนวิชไส้อั่ว เป็นต้น
แชร์สูตรการทำไส้อั่วโฮมเมด รับประกันความอร่อย ทานได้ไม่มีเบื่อ ทำทานเองง่าย ๆ ที่บ้าน
มาถึงการทำไส้อั่วแบบโฮมเมดที่สายกินไม่ควรพลาด วัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายตามท้องตลาด ประกอบกับ วิธีทำทำที่ง่ายแสนง่ายที่เรานำมาฝาก รับรองเลยว่าจะได้ไส้กรอกตามแบบฉบับเมนูอาหารไทยพื้นถิ่น ไส้แน่น ๆ คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นสมุนไพร อร่อย แถม ดีต่อสุขภาพ ทำทานที่บ้านได้แบบไม่มีเบื่อ
ส่วนผสมเครื่องแกงไส้อั่ว
- พริกแห้งเม็ดใหญ่ แช่น้ำ 2 เม็ด
- พริกขี้หนูแห้ง 1 ถ้วย
- กระเทียม 10 กลีบ
- หอมแดง 6 หัว
- ตะไคร้ 3 ต้น
- ผิวมะกรูด 1 ช้อนโต๊ะ
- ข่า 3 ช้อนโต๊ะ
- ขมิ้นหั่นแว่น 2 ช้อนโต๊ะ
- รากผักชี 3 ช้อนโต๊ะ
- กะปิ 1 ช้อนชา
- ลูกผักชี ยี่หร่าคั่วและตำ 3 ช้อนชา
ส่วนผสมไส้อั่ว
- เนื้อหมูติดมันบด 1.5 กิโลกรัม
- ต้นหอม ผักชีซอยรวมกัน 1 ถ้วย
- ใบมะกรูดซอย 2 ช้อนโต๊ะ
- ขมิ้นผง 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำพริกแกงแดง 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายแดง 1 ช้อนชา
- ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันหอย 3 ช้อนโต๊ะ
- ไส้อ่อน สำหรับยัดไส้
วิธีการทำ
- เริ่มต้นด้วยการเตรียมเครื่องแกง นำพริกลงไปตำกับเกลือ แล้วตามด้วยข่า ตะไคร้ รากผักชี กระเทียม หอมแดง ผิวมะกรูด กะปิ ขมิ้น รวมถึงลูกผักชีกับยี่หร่าที่ผ่านการคั่วและตำมาเรียบร้อยแล้ว ตำให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้วพักไว้
- ต่อด้วยการเตรียมส่วนผสมไส้อั่ว นำหมูสับใส่ชามผสม ตามด้วยเครื่องแกงที่เตรียมไว้ หรือสามารถใช้พริกแกงแดงได้เช่นกัน เติมผงขมิ้นลงไปช่วยเพิ่มความหอม
- ปรุงรสด้วยน้ำมันหอยและน้ำปลา เติมน้ำตาลทราย ใบมะกรูด ต้นหอม และผักชีซอย คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
- ตักส่วนผสมเล็กน้อยออกมาใส่ถ้วยแล้วนำเข้าไมโครเวฟเพียง 20-30 วินาที ชิมรสชาติและปรุงเพิ่มเติมตามชอบ
- ลำดับต่อมาเป็นขั้นตอนการของการยัดไส้ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการตัดส่วนหัวของขวดพลาสติกแล้วนำมาต่อเข้ากับส่วนของไส้ จากนั้นยัดส่วนผสมที่เตรียมไว้เข้าไปในไส้ หรือหากใครมีตัวช่วยอย่างเครื่องทำไส้กรอกก็สามารถนำมาใช้เพื่อความรวดเร็วได้เช่นกัน
- เมื่อเสร็จแล้วสามารถแบ่งเป็นท่อน ๆ ตามขนาดที่ต้องการได้ หากต้องการเก็บไว้ทานก็สามารถแช่แข็งไว้ แล้วค่อยนำมาอบหรือย่างได้ความต้องการ รับรองอร่อยถูกใจ
เปิดคุณค่าทางโภชนาการของไส้อั่ว ทานแล้วดีต่อร่างกายอย่างไร
ไส้อั่ว มีส่วนประกอบหลักเป็นเนื้อสัตว์ ดังนั้นประโยชน์ของไส้อั่วที่โดดเด่นคือ เป็นแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ที่มาพร้อมกับคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลายจากสมุนไพรที่นำมาใช้ โดยรวมแล้วมีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี
ทั้งยังช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย แก้ไอ บรรเทาอาการหวัด ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง บำรุงสมอง เสริมความจำ ทำให้เจริญอาหาร และช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น
นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยบำรุงโลหิต รักษาอาการท้องอืด แน่นเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แก้ลมพิษ บรรเทาอาการปวดเมื่อย และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าครบจบในเมนูเดียว แต่ก็ต้องไม่ลืมทานในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพน้อยที่สุดนั่นเอง
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace