“ขนมจีนน้ำเงี้ยว” นับว่าเป็นหนึ่งในอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเมนูเส้นยอดนิยมนี้ ไม่ได้เป็นอาหารของชาวล้านนามาแต่เดิม แน่นอนว่าเราก็ไม่พลาดที่จะรวบรวมข้อมูลน่าสนใจเหล่านั้นมาฝากกันอีกอีกเช่นเคย นอกจากประวัติความเป็นมาที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน ก็ยังมีสูตรเด็ดความอร่อยมาฝากกันด้วย รับรองเลยว่าสามารถทำตามได้ไม่ยาก ถูกใจสายกินที่ชื่นชอบอาหารถิ่นของทางภาคเหนือชัวร์
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ที่มาที่ไปของขนมจีนน้ำเงี้ยว เมนูของชาวไทใหญ่ สู่อาหารล้านนามงคล
อย่างที่เราได้เกริ่นไปแล้วว่าในความจริง “ขนมจีนน้ำเงี้ยว” ไม่ได้เป็นอาหารเหนือดั้งเดิม แต่ประวัติน้ำเงี้ยวเป็นเมนูอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมการกินของชาวไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานของเมียนมาร์ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองล้านนาตั้งแต่อดีต โดยมีชื่อเรียกว่า “น้ำหมากเขือส้ม” เดิมนิยมทานกับเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งถูกเรียกว่า “ข้าวซอยเงี้ยว”
และเมื่อเวลาผ่านไปจึงถูกดัดแปลงมาทานกับเส้นขนมจีนอย่างเช่นในปัจจุบัน โดยสูตรน้ำเงี้ยวตามแบบฉบับของชาวเชียงรายจะมีความแตกต่างจากสูตรของที่อื่น ๆ เอกลักษณ์คือ จะมีรสชาติที่เข้มข้นกว่า น้ำซุปก็จะไม่ได้ใส สามารถปรุงรสทานได้กับทั้งเนื้อหมูและเนื้อวัว ส่วนพริกแกงก็จะมีความคล้ายคลึงกับพริกแกงส้มของทางภาคกลาง ครบทั้งรสเปรี้ยวจากมะเขือเทศ เค็ม และเผ็ดจัดจ้าน ทานคู่กับผักเครื่องเคียง เข้ากันอย่างลงตัว
แนะนำสูตรการทำขนมจีนน้ำเงี้ยว รสชาติแบบต้นตำรับ
หากใครกำลังมองหาวิธีการทำขนมจีนน้ำเงี้ยวไว้ทานเองที่บ้าน ขอบอกเลยว่าไม่ควรพลาด อย่ารอช้าที่จะจดสูตรน้ำเงี้ยวที่เรานำมาฝากกันในบทความนี้ รับรองว่าจะได้รสชาติแบบต้นตำรับ อร่อยจัดจ้าน ถูกปาก ถูกใจ แถมขั้นตอนการทำยังไม่ยุ่งยากซับซ้อน มือใหม่ก็สามารถทำตามได้สบาย ๆ
ส่วนผสมขนมจีนน้ำเงี้ยว
- ขนมจีน 400 กรัม
- เลือดหมู หั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 3/4 ถ้วย
- หมูสับ 6 ช้อนโต๊ะ
- มะเขือส้มหรือมะเขือเทศลูกเล็ก 10 ลูก
- ดอกงิ้ว 3 ดอก
ส่วนผสมน้ำต้มกระดูกหมูอ่อน
- กระดูกหมูอ่อน หั่นเป็นท่อน 2 1/4 ถ้วย
- น้ำเปล่า 3+1/2 ถ้วย
ส่วนผสมพริกแกง
- พริกแห้ง 1/2 ถ้วย
- กะปิ 1 ช้อนชา
- หอมแดงซอย 4 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมซอย 3/4 ช้อนโต๊ะ
- ข่าซอย 1 ช้อนชา
- รากผักชีซอย 1 ช้อนชา
- ถั่วเน่า 1 แผ่นใหญ่
- น้ำมันพืช 4 ช้อนชา
- น้ำปลา 4 ช้อนโต๊ะ
วัตถุดิบผักเครื่องเคียง
- ถั่วงอกดิบ (เด็ดหาง) 2 3/4 ถ้วย
- ผักกาดดองซอย 1 ถ้วย
- ต้นหอมซอยหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ
- ผักชีซอย 1/4 ถ้วย
- มะนาว 1 ผล
- กระเทียมเจียว 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
- พริกขี้หนูแห้งทอด 8 เม็ด
วิธีการทำ
- นำกระดูกหมูอ่อนไปต้มในน้ำเปล่า ใช้ไฟปานกลาง และใช้เวลาประมาณ 35 นาที เมื่อน้ำเดือดให้คอยช้อนฟองออกเรื่อย ๆ ต้มจนกระดูกหมูอ่อนเปื่อยแล้วพักไว้
- ขั้นตอนนี้เป็นการเตรียมส่วนผสมพริกแกง ให้ตัดขั้วแข็งของดอกงิ้วออกก่อนจะนำไปคั่วด้วยไฟอ่อนในกระทะแล้วพักไว้ จากนั้นปิ้งถั่วเน่าให้พอหอม พักไว้ให้เย็นแล้วนำมาโขลกให้ละเอียด
- เมื่อเตรียมวัตถุดิบพร้อมแล้วให้โขลกส่วนผสมพริกแกง โดยใส่ รากผักชี ข่า พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม และกะปิโขลกให้ละเอียด ตามด้วยถั่วเน่าที่เตรียมไว้ จากนั้นโขลกรวมกับพริกแกงให้เข้ากันดี
- ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป นำพริกแกงที่ได้ลงไปผัดจนส่งกลิ่นหอม ใส่เนื้อหมูสับลงไปผัดให้สุก ตามด้วยมะเขือเทศและดอกงิ้วคั่ว ผัดส่วนผสมให้เข้ากัน จากนั้นตักใส่ในหม้อต้มกระดูกหมูอ่อน เติมเลือดที่ลวกแล้วลงไป ก่อนจะปรุงรสด้วยน้ำปลา ต้มจนเดือดแล้วยกลงจากเตา
- ก่อนเสิร์ฟจัดขนมจีน ผักกาดดอง และถั่วงอกดิบใส่จาน ราดด้วยน้ำเงี้ยว ทานคู่กับพริกขี้หนูแห้งทอด น้ำมะนาว กระเทียมเจียว ผักชี และต้นหอม
แชร์เคล็ดลับความอร่อยของขนมจีนน้ำเงี้ยว มือใหม่ก็ทำได้
แม้ในปัจจุบันเมนู “ขนมจีนน้ำเงี้ยว” จะหาทานได้ไม่ยาก แต่การจะหาร้านอร่อยถูกใจ แถมยังถูกหลักอนามัยก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ดังนั้นการจดสูตรไว้ทำทานเองที่บ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากจะได้จานเด็ดที่อร่อยถูกปาก สะอาดถูกใจแล้ว ยังได้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่สดใหม่
ซึ่งวิธีทำขนมจีนน้ำเงี้ยวให้อร่อยนั้นก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่ต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ส่วนพริกแห้งที่ใช้สำหรับการทำพริกแกง ควรผ่านการแช่น้ำมาก่อนเพื่อให้สามารถโขลกได้ละเอียดขึ้น นอกจากนี้ควรลวกเลือดหมูในน้ำเดือดก่อนเพื่อดับกลิ่นคาวของเลือดหมู เมื่อนำมาใส่ในแกงจะได้น้ำแกงที่หอม รสชาติจัดจ้าน ที่สำคัญควรเสิร์ฟขณะร้อน ๆ จะได้หน้าตาที่ชวนรับประทาน ไม่เป็นไขของหมูสับและกระดูกอ่อนนั่นเอง
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace