“ข้าวกั๊นจิ๊น” เมนูอาหารเหนือที่มีมาอย่างยาวนานแต่เริ่มหาทานได้ยากในปัจจุบัน แตกต่างจากเมนูยอดฮิตอย่างขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวซอย หรือน้ำพริกหนุ่ม ที่หาทานได้ทั่วไปตามท้องตลาด วันนี้เราจะพาทำความรู้จักกับเมนูที่ชื่อเรียกอาจจะแปลก ๆ แต่รับรองเลยว่ารสชาติความอร่อยนั้น ถูกใจใครหลาย ๆ คนแน่นอน ตามเราไปดูพร้อมกันว่าเมนูนี้คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และที่สำคัญมีวิธีการทำกันอย่างไร มัดรวมมาให้ทุกคำตอบ!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำความรู้จักข้าวกั๊นจิ๊น วัฒนธรรมอาหารของชาวไทใหญ่
ในความจริงแล้ว “ข้าวกั๊นจิ๊น” มีชื่อเรียกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “จิ้นส้มเงี้ยว” หรือ “ข้าวเงี้ยว” เนื่องจากแต่ละจังหวัดนั้นใช้เรียกไม่เหมือนกัน โดยที่มาของเมนูอาหารพื้นเมืองของทางภาคเหนือนี้ ว่ากันว่าเป็นวัฒนธรรมอาหารของชาวไทใหญ่ จุดเด่นคือการใช้ใบตองห่อในลักษณะที่คล้ายกับแหนม ซึ่งเรียกกันว่า จิ้นส้ม นั่นเอง จึงกลายมาเป็นที่มาของชื่อ จิ้นส้มเงี้ยว เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการดัดแปลงสูตรการทำมากขึ้น บางสูตรไม่ใส่เนื้อสัตว์ แต่ใส่เลือดลงไปคลุกเคล้ากับข้าวเพียงอย่างเดียว
ชื่อเมนู “ข้าวกั้นจิ้น” มาจากการรวมกันของคำว่า “กั้น” ที่มีความหมายในภาษาล้านนาว่า คั้น การบีบนวดคั้น บ่งบอกถึงขั้นตอนในการทำซึ่งจะมีการนวดข้าวเข้ากับส่วนผสมอื่น ๆ ส่วนอีกคำคือ “จิ้น” หมายถึง เนื้อ ใช้เรียก จิ้นงัว จิ้นควาย จิ้นหมู ซึ่งก็แปลว่า เนื้อวัว เนื้อควาย และเนื้อหมู
ลักษณะก็จะเป็นข้าวสวยที่คลุกเคล้าเข้ากับเลือดหมูสด ห่อในใบตอง นิยมนำมารับประทานคู่กับน้ำมันกระเทียม หอมแดง แตงกวา และพริกทอด มักทานเป็นเมนูอาหารมื้อกลางวัน ในอดีตส่วนใหญ่จะใช้เป็นเนื้อวัว แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้เนื้อหมูแทน
ที่มาที่ไปของ “ข้าวกั๊นจิ๊น” นั้นได้รับมาจากวัฒนธรรมอาหารของชาวไทใหญ่ ชาติพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความนิยมทานข้าวเจ้า แตกต่างจากชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มักทานอาหารหลักเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวนึ่ง ทำให้เมนูนี้กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่เมนูของอาหารล้านนาที่ทำมาจากข้าวเจ้านั่นเอง
แน่นอนว่าหากมีโอกาสได้เที่ยวทางภาคเหนือ ก็สามารถหาทานได้ทั่วไปในจังหวัดแพร่ เชียงใหม่ เชียงราย หรือจังหวัดอื่น ๆ ตามร้านที่ขายขนมจีนน้ำเงี้ยวหรือร้านข้าวซอย
สูตรการทำข้าวกั๊นจิ๊น จากวัตถุดิบที่หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด
มาถึงขั้นตอนการทำเมนูข้าวกั๊นจิ๊นกันบ้าง ด้วยความเป็นเมนูอาหารไทยล้านนาที่หาทานได้ยาก เราจึงขออาสาพาไปจดสูตรเด็ดความอร่อย รับรองว่าสามารถทำกินเองที่บ้านได้ง่าย ๆ ขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด หากใครกำลังคิดถึงรสชาติของเมนูอาหารพื้นบ้านตามตำรับโบราณ หรือใครที่ยังไม่เคยได้ลองทาน ก็สามารถเข้ามาส่องวิธีทำกันได้ หากพร้อมแล้วไปเตรียมวัตถุดิบการทำกันได้เลย
ส่วนผสม
- ข้าวสารเจ้า 1 ลิตร
- เนื้อหมูบด 200 กรัม
- เลือดหมู 1 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ 1 ช้อนชา
- กระเทียม 30 กลีบ
- น้ำมันพืช 1 ถ้วย
เครื่องเคียง
- พริกขี้หนูแห้งทอด
- หอมหัวใหญ่
- แตงกวา
- กระเทียมเจียว
วิธีการทำ
- นำเลือดหมูมาคั้นกับใบตะไคร้ เพื่อลดกลิ่นความคาวของเลือด จากนั้นพักไว้ก่อน
- ทำการหุงข้าวตามปกติ เมื่อข้าวสุกได้ที่ดีแล้วให้ตักออกมาผึ่งให้อุ่น ก่อนจะใส่เกลือ น้ำตาลทราย และน้ำมันกระเทียมเจียวลงไปปรุงรส
- นำหมูสับและเลือดหมูที่เตรียมไว้ใส่ตามลงไปในข้าว ทำการคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันแล้วพักไว้
- ฉีกใบตองให้มีความกว้างประมาณ 10 นิ้ว วางซ้อนกัน 4 ชั้น แล้วใส่ส่วนผสมของข้าวที่เตรียมไว้ลงไป จากนั้นทำการห่อได้เลยและมัดด้วยตอกให้แน่น
- นำห่อข้าวที่ห่อเรียบร้อยแล้วใส่ลงในลังถึง นึ่งโดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที จะได้ข้าวกั๊นจิ๊นที่สุกพร้อมทาน
- ก่อนเสิร์ฟโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว พริกแห้งทอด หอมแดง แตงกวา ผักชี และต้นหอม แนะนำให้ทานคู่กับขนมจีนหรือก๋วยเตี๋ยวน้ำเงี้ยวและแคบหมู รับรองว่าจะได้ความอร่อยที่เข้ากันอย่างลงตัว
เคล็ดลับความอร่อย
เมื่อนำข้าวสวยไปคลุกกับเลือดหมูแล้ว ให้พักข้าวเอาไว้สักพักเพื่อให้เลือดหมูซึมเข้าไปในข้าว และได้ข้าวที่ไม่ข้าวที่แฉะจนเกินไป หากเลือดหมูเป็นลิ่มก้อน ให้ใช้ตะไคร้ตี จะช่วยให้เลือดแตกตัวก่อนนำไปใช้ นอกจากนี้ให้ระวังการปรุงรสชาติ เนื่องจากส่วนใหญ่เลือดหมูตามท้องตลาดมักจะผสมเกลือมาก่อน ส่วนของเนื้อสัตว์นั้นเป็นการนำมาใส่เพื่อเพิ่มรสชาติที่กลมกล่อมมากขึ้น และที่สำคัญหากไม่มีใบตองก็สามารถใส่ส่วนผสมลงในชามใบเล็ก หรืออัดลงในแม่พิมพ์แล้วนำไปนึ่งในลังถึงได้เช่นกัน
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace