ขนมอินทนิล ขนมไทยโบราณที่หาทานยากกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในยุคที่คนเริ่มหันมาใส่ใจการอนุรักษ์ขนมไทยโบราณ ความอร่อยที่ผสมผสานระหว่างขนมบัวลอยและขนมเปียกปูนกะทิสดทำให้ขนมอินทนิลเป็นที่น่าจดจำ วันนี้เราจะมาแชร์สูตรขนมอินทนิลแบบง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำตามได้ที่บ้าน รับรองความอร่อยและความเป็นเอกลักษณ์ของขนมไทยแท้ ๆ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
พาไปทำความรู้จัก “ขนมอินทนิล” ขนมไทยที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน
ขนมอินทนิล ขนมไทยโบราณที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในเรื่องของชื่อที่ไพเราะ ซึ่งมาจากชื่อไม้ยืนต้นที่มีดอกสีม่วงสด หรือบางครั้งก็เป็นสีม่วงอมชมพู พบได้มากในป่าดงดิบแถบภาคใต้ของไทย ขนมชนิดนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ขนมหยกสด” แม้ว่าวิธีการทำจะเหมือนกัน แต่ความแตกต่างอยู่ที่การใช้สีธรรมชาติ สำหรับขนมอินทนิลแบบต้นตำรับจะเป็นสีม่วงจากดอกอัญชันที่ผสมกับน้ำมะนาว ส่วนขนมหยกสดจะใช้สีเขียวจากใบเตย ขนมทั้งสองชนิดนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและความยากลำบากในการหาวัตถุดิบ
ขนมอินทนิล เป็นขนมที่ผสมผสานระหว่างขนมบัวลอยและขนมเปียกปูน มีวัตถุดิบหลักที่สำคัญคือ แป้ง น้ำตาล และกะทิ ซึ่งถือเป็นหัวใจของขนมไทยที่ไม่ว่าใครก็ต้องหลงรัก จุดเด่นของขนมอินทนิลคือเนื้อสัมผัสที่นุ่มหนึบจากแป้งมันสำปะหลัง เมื่อนำมารับประทานคู่กับน้ำกะทิรสหวานมันเค็ม หอมอบควันเทียน ยิ่งเพิ่มความอร่อยและเป็นเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้จากขนมชนิดอื่น
บอกต่อความอร่อย สูตร “ขนมอินทนิล” ขนมนุ่มหนึบหาทานยาก
ขนมอินทนิล ขนมที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้จะหาทานได้ยากในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถหากจะลองทำทานด้วยตัวเองที่บ้าน ดังนั้นวันนี้เราขออาสาพาไปส่องวิธีทำขนมอินทนิลง่าย ๆ ที่มือใหม่ก็สามารถทำตามได้ ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด รับรองเลยว่าทำออกมาแล้วจะได้รสชาติความอร่อย หวานมันเค็ม เนื้อนุ่มหนึบ เคี้ยวเพลิน ถูกปากคนไทยอย่างแน่นอน
สำหรับสูตรที่เรานำมาฝากนี้เป็นสูตรน้ำใบเตย หากใครอยากทำสีม่วงสามารถเปลี่ยนไปใช้น้ำอัญชันแทนได้เช่นกัน ทำทานก็ได้ ทำขายก็ช่วยสร้างรายได้เสริมได้ดี ไปดูพร้อมกันเลยว่าจะต้องเตรียมวัตถุดิบอะไร ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และจะมีขั้นตอนการทำเป็นอย่างไร
ส่วนผสมสำหรับขนมอินทนิล
- น้ำอุ่น 2 ถ้วย
- น้ำใบเตย 4 ถ้วย
- น้ำมะนาว ¼ ช้อนชา
- แป้งมันสำปะหลัง 100 กรัม
- น้ำตาลทราย 1½ ช้อนโต๊ะ
- เนื้อมะพร้าวอ่อน ½ ถ้วย
- หัวกะทิ 1 ถ้วย
- น้ำ ½ ถ้วย
- น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ
- เกลือสมุทร ¼ ช้อนชา
- ใบเตยมัดปม 2 ใบ
อุปกรณ์
- ผ้าขาวบาง
- กระทะทองเหลือง
- ไม้พาย
- เทียนอบและถ้วยสำหรับตั้งเทียนอบ
วิธีการทำ
- นำใบเตยมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วปั่นกับน้ำเปล่า หลังจากปั่นจนได้ที่แล้ว ให้นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง บีบน้ำออกมาให้ได้น้ำใบเตย 4 ถ้วยตวง
- ค่อย ๆ ใส่น้ำมะนาวลงไปในน้ำใบเตย ก่อนจะเทผสมกับแป้งมันสำปะหลัง คนให้เข้ากันดีก่อนจะกรองส่วนผสมผ่านตะแกรงลงในกระทะทองเหลืองที่เตรียมไว้ จากนั้นนำขึ้นตั้งบนไฟอ่อน ใส่น้ำตาลลงไปคนไปในทางเดียวกันให้ได้แป้งสุกข้นเข้ากัน สังเกตง่าย ๆ คือ แป้งจะมีลักษณะใสและข้น เทใส่ถ้วยแล้วนำถ้วยไปแช่ในชามผสมที่มีน้ำแข็งอีกที เพื่อให้เย็นตัวได้ไวขึ้น
- ลำดับต่อมาเป็นการเตรียมส่วนของน้ำกะทิที่ใช้ราด โดยให้ใส่หัวกะทิ น้ำ น้ำตาล เกลือสมุทร และใบเตยมัดปมลงไปในหม้อที่เตรียมไว้ แล้วนำขึ้นตั้งบนเตา ใช้ไฟกลาง คนจนกว่าน้ำตาลและเกลือสมุทรละลาย รอให้น้ำกะทิเดือดอีกครั้ง แล้วปิดไฟ พักไว้ให้หายร้อนจึงนำใบเตยมัดปมออก
- จุดเทียนอบที่อยู่ในถ้วย รอให้ไส้เทียนเดือดจนเกิดควัน แล้วรีบเป่าให้ดับ จากนั้นวางถ้วยที่ใส่เทียนลงในหม้อกะทิ ปิดฝาหม้อทันที และใช้เวลาอบควันเทียนประมาณ 30 นาที
- ระหว่างนั้นหันมาเตรียมจัดเสิร์ฟ โดยล้างมือให้สะอาด แล้วนำตัวแป้งที่พักไว้มาปั้นให้เป็นก้อนขนาดพอดีคำ ใส่ถ้วยเตรียมไว้ เมื่อกะทิอบควันเทียนได้ที่แล้ว สามารถตักราดตัวแป้งได้เลย นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มรสชาติความกลมกล่อมได้ด้วยการเสริมเนื้อมะพร้าวอ่อนหรือใส่น้ำแข็งลงไปได้ด้วย
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace