หากมีโอกาสไปเที่ยวทางภาคเหนือของไทย เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินอีกหนึ่งเมนูชื่อดังอย่าง “น้ำพริกอ่อง” เมนูอาหารล้านนาแบบดั้งเดิมที่ต้องลองสักครั้ง นำเสนอรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว วันนี้เราจึงไม่พลาดที่จะนำวิธีการทำเมนูยอดนิยมที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินซึ่งไม่เหมือนใครมาฝาก วิธีการจะยากง่ายแค่ไหนและมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมนูนี้บ้าง ไปติดตามพร้อมกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ความหมายของน้ำพริกอ่องและประวัติความเป็นมา
น้ำพริกอ่อง เป็นเมนูอาหารไทยล้านนาที่มีต้นกำเนิดมาจากวัฒนธรรมการกินของชาวไทใหญ่ กลายมาเป็นเมนูน้ำพริกยอดฮิตที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สะท้อนวัฒนธรรมการกินที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับอาหารเหนือ ต้องบอกเลยว่าไม่ว่าคนไทยที่อยู่ภาคไหน หรือชาวต่างชาติจากประเทศใดได้ลองทาน ต่างก็ต้องติดใจในรสชาติความอร่อยของเมนูน้ำพริกถ้วยนี้
คำว่า “อ่อง” ในภาษาเหนือมีความหมายเกี่ยวกับวิธีการปรุงน้ำพริกที่ต้องผ่านขั้นตอนการผัดเคี่ยว แล้วทิ้งไว้ให้น้ำค่อย ๆ งวดลง ส่วนผสมในเมนูนี้ล้วนแล้วแต่ได้มาจากธรรมชาติ และสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป โดยมีเรื่องเล่าขานต่อ ๆ กันมาเกี่ยวกับชาวพม่าที่ชื่อว่า “นายอ่องหม่อง” ที่วันหนึ่งอยากจะกินขนมจีนน้ำเงี้ยว จึงเริ่มต้นตำน้ำพริกสำหรับเมนูน้ำเงี้ยว
ระหว่างที่กำลังเตรียมส่วนผสมในการทำอยู่นั้น ลูกน้อยของเขาก็ได้ส่งเสียงร้องไห้เพราะหิวข้าวมาก แม้จะบอกให้เงียบก็ไม่เงียบเสียที เขาจึงเกิดอารมณ์โมโหและตักน้ำพริกที่ยังทำให้เสร็จนี้ให้ลูกกิน แต่ด้วยรสชาติที่เผ็ดมาก นายอ่องหม่องเลยไปเก็บผักสดมากินกับน้ำพริกแต่กลับพบว่า รสชาตินั้นอร่อยอย่างน่าประหลาด หลังจากนั้นก็นำไปให้ชวนชาวบ้านแถวนั้นกิน จึงพากันเรียกว่า “น้ำพริกปู่อ่อง” จนเวลาผ่านไป ชื่อที่เรียกก็ผิดเพี้ยนจนกลายมาเป็น “น้ำพริกอ่อง” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
แน่นอนว่าเมื่อผ่านเวลายาวนาน จนน้ำพริกเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในแต่ละพื้นที่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนและดัดแปลงสูตรให้มีความหลากหลายมากขึ้น แต่หนึ่งในสูตรที่ได้รับความนิยมนั่นก็คือ น้ำพริกอ่องเชียงใหม่ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้
ชวนทำน้ำพริกอ่องแบบง่าย ๆ สไตล์เมนูโฮมเมด
น้ำพริกอ่อง มีลักษณะเด่นที่สามารถเห็นได้ชัดเลยนั่นก็คือ สีส้มที่ได้จากมะเขือเทศและพริกแห้ง ผ่านกรรมวิธีการเคี่ยวจนได้เป็นน้ำขลุกขลิก มีน้ำมันลอยเล็กน้อย มาพร้อมกับรสชาติที่โดดเด่นถึง 3 รสด้วยกัน ได้แก่ รสเปรี้ยว เค็ม และเผ็ดเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีความหวานตามอีกเล็กน้อย มักทานกับผักสดหรือผักต้มก็ได้เช่นเดียวกัน โดยวิธีทำน้ำพริกอ่องมีสิ่งที่ต้องระวังเพียงเล็กน้อย โดยควรเลือกหมูสับที่มีสัดส่วนของเนื้อแดงที่มากกว่าไขมัน ส่วนขั้นตอนการทำจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามพร้อมกันได้เลย
ส่วนผสม
- หมูสับ
- มะเขือเทศ
- พริกแห้ง
- หอมแดง
- กระเทียม
- กะปิ
- เกลือ
- น้ำปลา
- น้ำมัน
- ผักชี
- ต้นหอม
วิธีการทำ
- นำพริก หอมแดง และกระเทียมมาโขลกรวมกัน จากนั้นใส่กะปิและเกลือลงไปโขลกให้เข้ากัน
- เตรียมตั้งกระทะแล้วใส่พริกแกงลงไปผัดกับน้ำมันจนส่งกลิ่นหอม แล้วใส่เนื้อหมูสับลงไปผัดให้สุก
- เติมน้ำเปล่าลงไปเล็กน้อย รอให้เดือด จากนั้นใส่มะเขือเทศลงไปผัดให้เข้ากันกับส่วนผสมที่อยู่ในกระทะ ตั้งไฟต่อจนมะเขือเทศสุก
- ปิดเตาแล้วตักน้ำพริกใส่ถ้วย ก่อนเสิร์ฟโรยหน้าด้วยผักชีและต้นหอม เป็นอันเสร็จ
ประโยชน์ของน้ำพริกอ่องจากวัตถุดิบที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด
น้ำพริกอ่อง นับว่าเป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการหลายด้าน วัตถุดิบที่ใส่ลงไปนั้นใช้พืชสมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นประโยชน์ของน้ำพริกอ่องนอกจากจะได้โปรตีนจากเนื้อหมูแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิตามินจากมะเขือเทศสุก เป็นทั้งแหล่งวิตามินเอที่สูงมาก
นอกจากนี้ยังมีวิตามินบี, ซี, เค, เบต้าแคโรทีน, ไลโคปีน, ฟอสฟอรัส, แคลเซียม, เหล็ก, กรดผลไม้และสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย หากร่างกายได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีส่วนช่วยฟอกเลือด ลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับ และบำรุงระบบประสาทได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีผักชีที่เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ช่วยบำรุงสุขภาพและมีส่วนสำคัญในการบำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้น มีวิตามินซี ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์และป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
ทั้งยังมีธาตุเหล็กสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดได้ดี โดยรสเผ็ดของพริกขี้หนูจะช่วยขับลมออกจากร่างกาย ส่วนรสเผ็ดของหอมแดงนั้นมีสรรพคุณทางยา ช่วยขับเสมหะ แก้โรคในปาก และบำรุงธาตุ ปิดท้ายด้วยคุณค่าทางอาหารของกระเทียมที่มีส่วนช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น และจุกเสียด เรียกได้ว่าเป็นเมนูง่าย ๆ ที่มากไปด้วยประโยชน์
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace