เครื่องเทศ เป็นวัตถุดิบที่อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าแทบทุกเมนูอาหารไทยล้วนแล้วแต่เกิดจากการรังสรรค์และผสมผสานวัตถุดิบเหล่านี้อย่างลงตัว เป็นวัฒนธรรมอาหารการกินเฉพาะตัว ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดียที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ส่วนจะมีชนิดไหนที่นิยมใช้ในครัวไทยกันบ้าง วันนี้เรามีมาแนะนำ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
แนะนำเครื่องเทศที่นิยมใช้ในครัวไทย พร้อมบอกสรรพคุณ
- ลูกผักชี : เมล็ดสีขาวหม่น ทรงกลมขนาดเล็ก นิยมนำไปคั่วและตำก่อนนำไปประกอบอาหารเพื่อให้ได้กลิ่นที่หอม หากใช้คู่กับเมล็ดยี่หร่าจะยิ่งทำให้กลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น พบในเครื่องแกงหลากหลายประเภท ทั้งพะแนง แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และอื่น ๆ
- อบเชย : ได้มาจากเปลือกของต้นอบเชย ลักษณะเด่นคือจะมีสีน้ำตาลอมแดง ให้กลนหอมนุ่มละมุน ส่วนรสชาติจะติดขม หวานฝาดที่ปลายลิ้น แนะนำให้นำไปคั่วหรือเผาก่อน สามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้งชิ้น หรือจะป่นจนละเอียดแล้วผสมลงไปในอาหารก็ได้ ประโยชน์ของเครื่องเทศชนิดนี้ใช้เพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์
- โป๊ยกั๊ก : เครื่องเทศจีนที่นำส่วนของผลแก่ตากแห้งมาใช้ จุดเด่นคือมีลักษณะที่เป็นดาว 8 แฉก สีน้ำตาลปนแดง รสชาติเผ็ดหวาน ใส่ลงในอาหารแล้วให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ก่อนใช้ให้นำไปเผา นอกจากใช้ทำอาหารแล้ว ยังนิยมทำเป็นตัวยาสมุนไพรอีกด้วย
- ลูกกระวาน : มักใช้ในทางการแพทย์และทำครัว ลักษณะเป็นทรงกลมรีขนาดเล็ก เปลือกสีขาว ด้านในอัดแน่นด้วยเม็ดสีน้ำตาล ให้รสเผ็ดและขมปนหวาน กลิ่นหอมฉุน ใช้ง่าย ๆ เพียงนำไปคั่วไฟแล้วบีบให้แตก
- พริกไทยเสฉวน : เป็นเครื่องเทศที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบทานเมนูหม่าล่า รสชาติเผ็ดซาบซ่า กลิ่นหอม ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี นำไปประกอบอาหารได้ทั้งต้ม ผัด ทอด และปิ้งย่าง
- พริกแห้ง : เครื่องเทศที่ได้จากการนำพริกผลไปตากแห้ง ทำให้ได้พริกที่มีสีแดงปนน้ำตาล เพิ่มความเผ็ดร้อนและกลิ่นฉุนได้ดี นิยมนำไปใช้ตกแต่งอาหารให้มีสีสันมากขึ้น
- ยี่หร่า : เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เทียนขาว” พืชมีดอกในตระกูลแคร์รอต ลักษณะผลเป็นทรงยาวรีและแบน สีเหลืองอมน้ำตาล มีกลิ่นหอมแรง รสชาติเผ็ดร้อนปนขม ก่อนนำไปทำอาหารให้บุบก่อน นิยมใช้หมักเนื้อสัตว์คู่กับลูกผักชี นอกจากจะอยู่ในอาหารประเภทแกง ยังสามารถนำไปทำเค้กและขนมปังได้ด้วย
แชร์วิธีการทำเมนูไข่พะโล้สูตรโบราณ อัดแน่นไปด้วยเครื่องเทศแบบจัดเต็ม
หากนึกถึงเมนูอาหารแสนอร่อยที่ใช้เครื่องเทศครัวหลากหลายชนิด คงเป็นเมนูไหนไปไม่ได้นอกจาก “ไข่พะโล้สูตรโบราณ” เมนูยอดนิยมที่เราเชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักแน่นอน เมนูในความทรงจำวัยเด็กที่สามารถทำทานเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน แม้ในปัจจุบันจะมีผงพะโล้สำเร็จรูปขายตามท้องตลาด แต่การเตรียมเครื่องเทศเองจะช่วยให้ได้รสชาติที่ตรงกับความต้องการมากกว่า ความเข้มข้นและความอร่อยย่อมแตกต่างกัน ในวันนี้ทางเราจึงนำเอาสูตรการทำเมนูประจำบ้านที่ทำตามได้ไม่ยากมาฝากกัน รับรองว่าถูกอกถูกใจคนในครอบครัวแน่นอน
ส่วนผสม
- ไข่ไก่ 6 ฟอง
- รากผักชี 4 ราก
- กระเทียม 5 กลีบ
- พริกไทย ½ ช้อนชา
- หมูสามชั้น 200 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ ½ ถ้วย
- ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
- โป๊ยกั๊ก 4 ดอก
- อบเชย 1-2 ชิ้น
- น้ำมันพืช สำหรับผัด 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำเปล่า 3 ถ้วย
วิธีการทำ
- ตั้งหม้อบนเตาใส่น้ำเปล่าและเติมเกลือลงไปเล็กน้อย ต้มไข่โดยใช้ไฟปานกลางประมาณ 10 นาที ยกลงจากเตา แล้วนำไข้ ต้มมาน็อคด้วยน้ำเย็น ปอกเปลือกแล้วพักไว้
- เตรียมส่วนผสมเครื่องเทศอย่างสามเกลอที่ประกอบไปด้วยรากผักชี กระเทียม และพริกไทย นำมาโขลกให้ละเอียด จากนั้นตั้งกระทะด้วยไฟปานกลาง ใส่น้ำมันแล้วนำส่วนผสมที่ได้ลงไปผัดจนส่งกลิ่นหอม ตามด้วยน้ำตาลปี๊บ ผัดและเคี่ยวจนน้ำตาลละลายกลายเป็นสีเข้มจัด จากนั้นจึงใส่หมูสามชั้นลงไปผัดแค่พอสุก
- เติมน้ำเปล่าและไข่ที่ต้มเตรียมไว้ลงไป ตามด้วยโป๊ยกั๊กและอบเชย ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย รอให้น้ำซุปเดือดแล้วเบาไฟลง ต้มต่อโดยใช้ไฟอ่อน จากนั้นเคี่ยวต่อไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อน้ำซุปเริ่มเข้าเนื้อก็พร้อมเสิร์ฟ
เคล็ดลับความอร่อยของพะโล้
การทำเมนูไข่พะโล้ให้อร่อยถูกปากถูกใจนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะขึ้นอยู่กับเครื่องเทศที่ใช้ โดยหลัก ๆ ให้เน้นไปที่การตำสามเกลอให้ละเอียด เนื่องจากหากตำไม่ละเอียดเวลาต้มซุปจะทำให้ลอยขึ้นมา แต่ก่อนนำไปต้ม ขั้นตอนการผัดก็สำคัญไม่แพ้กัน ต้องผัดให้เหลืองหอมกำลังดี อย่าผัดให้ไหม้จนเกินไป นอกจากจะทำให้พะโล้ไม่อร่อยแล้ว อาจติดรสขมได้ ขั้นตอนการเคี่ยวน้ำตาลก็ต้องได้สีเข้มที่สุด แต่ต้องไม่ไหม้จนทำให้รสออกขมเช่นกัน จะช่วยให้น้ำซุปพะโล้เข้มข้นและอร่อยมากขึ้น และหากไม่ทานเนื้อหมูก็สามารถใช้เนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทนได้ โดยเลือกเอาเนื้อส่วนที่ติดมันจะทำให้กลมกล่อมมากที่สุด
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Foodspace